วันที่ 10 มิถุนายน 2568 เวลา 15:19 น.
แฟนคลับ ส่งกำลังใจ "ฮั้ว" มือกีตาร์วง NAP A LEAN เผชิญอาการป่วย "ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย"
10 มิถุนายน 2568 ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากประสบปัญหาเกี่ยวกับ "ไตวาย" ตั้งแต่อายุยังน้อย แม้จะรู้สึกว่าตนเองมีสุขภาพแข็งแรง ล่าสุด "ฮั้ว – พิสิฐ สมบัติพินพง" มือกีตาร์วง NAP A LEAN ที่เพิ่งตรวจพบว่าตัวเองเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมเผยเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ตนได้ผ่านขั้นตอนผ่าตัดหลอดเลือดสำหรับฟอกไตแล้ว ตอนนี้ปรับพฤติกรรมทุกอย่าง เลิกเหล่า เลิกบุหรี่ กินคลีน แม้อาการป่วยจะทำน้ำหนักลดลงไปถึง 16 กิโลกรัม ภายในระยะเวลา 4 เดือน หากตนก็ยังมีกำลังใจดี พร้อมต่อสู้กับโรคต่อไป
"วันเกิดปีนี้ อายุครบ 37 ถึงเวลามีโรคประจำติดตัว ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง เมื่อผมตรวจพบ โรคไตระยะสุดท้าย เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตกใจมากในตอนที่ได้ยินครั้งแรก เพราะร่างกายปกติดีทุกอย่าง แต่เมื่อตั้งสติได้ หมอตรวจละเอียดแล้วพบว่า มีโอกาสเป็นไตเสื่อมจากกรรมพันธุ์ เนื่องจากยังสามารถปัสสาวะได้ปกติ และอวัยวะอื่น ๆ ยังแข็งแรง ปอด ตับ ต่อมต่าง ๆ ปกติ ความดันปกติ เบาหวานปกติ นี่อาจเป็นมรดกตกทอดจากคุณแม่ก็เป็นได้ ข้อดีในที่นี้คือ 7 ปีที่ผ่านมา ทุกกระบวนการของคุณแม่ ผมเป็นคนดำเนินการ จึงทำให้ทราบขั้นตอนเป็นอย่างดี เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคไต"
"ตอนนี้ผ่านมา 3 เดือนแล้ว ปรับชีวิตและอาหารไปมาก ไข่จืด ๆ ต้มดี ๆ ตอนนี้ก็อร่อยมากแล้ว เลิกบุหรี่ และเลิกดื่มเหล้ามา 4 เดือนแล้ว กุมภาพันธ์-มีนาคม หยุดเล่นดนตรีไปรักษาตัว ตอนนี้กลับมาเล่นดนตรี เข้าห้องอัดได้แล้ว เพียงแต่จะอ่อนเพลียไปหน่อย ปลายเดือนนี้มีเพลงใหม่ ฝากติดตามด้วยครับ การรักษาตอนนี้ ไปผ่าตัดหลอดเลือดสำหรับฟอกไตมาแล้ว ที่แขนซ้าย เส้นเลือดขนาดใช้ได้ดี ทั้งที่เป็นแขนข้างไม่ถนัด ผลมาจากการเล่นกีตาร์สม่ำเสมอ (ปกติแขนข้างไม่ถนัด เส้นเลือดจะเล็กไม่เหมาะสำหรับฟอกไต)"
ขณะที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคไตเรื้อรัง คือ สภาวะที่ไตถูกทำลายนานติดต่อกันเกิน 3 เดือน มักไม่มีอาการชัดเจนในระยะแรก ทำให้หลายคนไม่รู้ตัวจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะไตวาย ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคไตตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการชะลอความเสื่อมของไตและลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคไตเรื้อรังไม่เพียงแต่โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต โรคไตอักเสบ และ ปัจจัยทางพันธุกรรม นอกจากนี้พฤติกรรมบางอย่าง เช่น การใช้ยาแก้ปวดเป็นประจำ การใช้สมุนไพรไม่ถูกวิธี และการสูบบุหรี่ ก็เพิ่มความเสี่ยงทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นด้วย
ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ควรต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไตทุกปีได้ที่สถานพยาบาลในระบบบริการสาธารณสุขที่ท่านเข้ารับการรักษาเป็นประจำ สำหรับผู้สูงอายุและประชาชนให้สังเกตสัญญาณเตือนโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ ปัสสาวะผิดปกติ มีฟองมาก สีเข้ม ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ซีด มีอาการบวมตามร่างกาย เช่น เท้า ข้อเท้า หรือใบหน้า ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมได้ยาก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคไต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422