วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 เวลา 15:56 น.
ปภ.จับมือ 3 ค่ายมือถือ ทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์ Cell Broadcast ครั้งแรกของประเทศไทย ใน 5 พื้นที่ - สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนต่อระบบการแจ้งเตือนภัยของประเทศ
วันนี้ (2 พ.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ระดับเล็ก (อาคาร) ในพื้นที่จริง จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสงขลา จังหวัดสงขลา และอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคาร A และอาคาร B ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้ง 3 ค่าย ได้แก่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู มูฟ เอซ ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ว่าที่พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายวิทยา จันทน์เสนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายกลวัชร ทรัพย์ส่งสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร ปภ. หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดสงขลา จังหวัดสุพรรณบุรี และเจ้าหน้าที่ ปภ. เข้าร่วมการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฯ ณ ห้องกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และผ่านระบบประชุมทางไกล
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สาธารณภัยในปัจจุบันมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้ การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการลดความสูญเสียและเตรียมความพร้อมให้ประชาชนรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ AIS True และ NT พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เพื่อใช้เป็นช่องทางในการแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในทุกพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้กำหนดการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยในพื้นที่จริงนอกห้องปฏิบัติการเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ในวันที่ 2, 7 และ 13 พ.ค.68 โดยแบ่งการทดสอบเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับเล็ก (อาคาร) ระดับกลาง (อำเภอ/เขต) และระดับใหญ่ (จังหวัด) ครอบคลุมจังหวัดใหญ่ในภูมิภาค รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยในการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast ในวันนี้ (2 พ.ค.68) เป็นการทดสอบระดับเล็ก (อาคาร) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสงขลา จังหวัดสงขลา และอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคาร A และอาคาร B ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยกำหนดเริ่มสถานการณ์ตั้งแต่เวลา 12.45 น. ในลักษณะของ National Alert ซึ่งเป็นการสมมุติการเกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้นในพื้นที่เพื่อซักซ้อมการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติประจำ (SOP) ที่ได้กำหนดไว้ร่วมกัน ไปจนถึงขั้นตอนที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง AIS True และ NT ส่งข้อความแจ้งเตือน Cell Broadcast ไปยัง 5 พื้นที่ที่ได้กำหนดไว้ ในเวลา 13.00 น. โดยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทดสอบและพื้นที่ใกล้เคียงจะได้รับเสียงเตือนจากโทรศัพท์มือถือและมีข้อความแจ้งเตือนปรากฏขึ้นบนหน้าจอโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นแบบเดียวกับที่ทุกท่านจะได้รับในเวลาที่เกิดสถานการณ์ภัยขึ้นจริง แต่ในการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยครั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนและตื่นตระหนก ปภ. ได้ส่งข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ว่า “ทดสอบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โปรดอย่าตื่นตระหนก This is a test message from Department of Disaster Prevention and Mitigation (DDPM). No action required.”
นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าวต่อว่า การทดสอบครั้งนี้ถือว่าเป็นการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast ครั้งแรกของประเทศนอกห้องปฏิบัติการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแจ้งเตือนภัยของประเทศด้วยระบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม โดยผลการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast ระดับเล็ก (อาคาร) ในวันนี้ เป็นที่น่าพอใจ การทดสอบการส่งแจ้งเตือนไปผ่าน Cell Broadcast สามารถส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ที่กำหนดได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 นาที ทั้งโทรศัพท์มือถือระบบ Andriod และระบบ iOS เป็นไปได้ด้วยดี ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดได้รับข้อความการทดสอบที่ครอบคลุมเต็มพื้นที่ นับได้ว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติประจำ (SOP) ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้ร่วมกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ การได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการดำเนินการทดสอบระบบร่วมกันอย่างเต็มที่ และในขั้นตอนต่อไปจะเป็นการทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast ในระดับกลาง (อำเภอ/เขต) โดยกำหนดดำเนินการทดสอบ ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00 น. จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร และสุดท้ายจะเป็นการทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast ในระดับใหญ่ (จังหวัด) โดยกำหนดดำเนินการทดสอบ ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00 น. จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร และเพื่อให้ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือเดินทางไปยังพื้นที่เป้าหมายในการทดสอบอีก 2 ระดับ สามารถรับข้อความการแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast ขอความร่วมมือผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนดำเนินการอัปเดตเวอร์ชันระบบปฏิบัติการให้เป็นปัจจุบัน เพื่อทุกคนจะได้รับข้อความอย่างทั่วถึง
“โดยภายหลังจากการทดสอบนี้ ปภ.ได้มีการเก็บข้อมูลประสิทธิภาพของระบบผ่านแบบสอบถามออนไลน์ (Google Form) เพื่อทบทวนประสิทธิภาพและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมสรุปผลการทดสอบและวิเคราะห์ร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 เครือข่าย ในวันที่ 6 พ.ค. 2568 นำไปสู่การปรับปรุงและเตรียมขยายการใช้งานระบบแจ้งเตือนภัยต่อไป และเมื่อเสร็จสิ้นการทดลองระบบทั้ง 3 ครั้งนี้แล้ว ปภ.จะดำเนินการเปิดทดสอบระบบในระดับประเทศทฃพร้อมกันต่อไป เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศไทยที่สามารถแจ้งเตือนถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างทั่วถึง ทันท่วงที สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง และอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสาธารณภัยและเหตุฉุกเฉินได้อย่างมหาศาลและมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไปในอนาคต" นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าวปิดท้าย
20 พฤษภาคม 2568
อุกอาจ! คนร้ายกระหน่ำยิงหนุ่มดับคารถกระบะ ริมถนนซอยวัดลาดปลาดุก
20 พฤษภาคม 2568
20 พฤษภาคม 2568
อุกอาจ! คนร้ายกระหน่ำยิงหนุ่มดับคารถกระบะ ริมถนนซอยวัดลาดปลาดุก
20 พฤษภาคม 2568
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา
อ่านเพิ่มเติมยอมรับ