หน้าแรก > สังคม > สุขภาพ

ป่วยโควิด 19 เพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ สั่งทุกจังหวัดประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อม

วันที่ 22 เมษายน 2024 เวลา 15:06 น.


วันที่ 22 เมษายน 2567 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 14-20 เมษายน 2567 ระบุว่า ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 1,004 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 143 ราย/วัน

ผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) จำนวน 3 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 1 ราย/วัน, ผู้ป่วยสะสม 9,593 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567) เสียชีวิตสะสม 72 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567) ผู้ป่วยปอดอักเสบ 292 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 101 ราย

โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ของโรคโควิด 19 เพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปัจจุบันโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พรบ.โรคติดต่อ แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดรุนแรง แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้สั่งการทุกจังหวัดประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อม กำชับทุกหน่วยงานดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 14 – 20 เมษายน 2567) พบผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 1,004 ราย เฉลี่ย 143 รายต่อวัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ โดยพบผู้ป่วยมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพ ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวหลายแห่ง และมีผู้ป่วยอาการรุนแรงปอดอักเสบ 292 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 101 ราย และเสียชีวิต 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตทุกรายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคเรื้อรัง (608)

ทั้งนี้ คาดสาเหตุที่ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วย เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีอาการเหมือนไข้หวัด ทำให้ไม่ระวัง ป้องกันตนเองส่งผลให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่ายังคงเป็นสายพันธุ์รุ่นลูกของโอมิครอน โดยผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการคล้ายหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย ตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูก โดยยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอนเดิมในปีที่ผ่านมา

นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคโควิด 19 ขณะนี้มีลักษณะเหมือนโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่จะมีจำนวนมากหรือน้อยแล้วแต่ช่วงเวลา ขณะนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่วไป อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด ทั้งนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคคลากร เตียงรองรับผู้ป่วยเวชภัณฑ์ ตลอดจนมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี ประชาชนทั่วไปควรเน้นสุขอนามัยส่วนบุคคล และส่งเสริมให้มีการสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัดที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น ในการเดินทางสาธารณะ ที่โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ และจำเป็นต้องล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการคล้ายหวัด ควรทำการตรวจ ATK ที่บ้าน และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง 608 หากผลตรวจเป็นบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและพบแพทย์โดยเร็ว เมื่อมีอาการหายใจลำบาก หรืออื่นๆ

สำหรับกลุ่ม 608 หากมีอาการคล้ายหวัด และผลตรวจ ATK เป็นบวก 2 ขีด ควรสวมหน้ากากและรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการรุนแรง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสายด่วนของกรมควบคุมโรคได้ที่ 1422


ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม