หน้าแรก > สังคม

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฟังการบรรยายพิเศษ การประชุมวิชาการนานาชาติ ว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์หลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2023 เวลา 15:19 น.


สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฟังการบรรยายพิเศษ การประชุมวิชาการนานาชาติ ว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์หลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019    

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 เวลา 08.45 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เขตคลองเตย ทรงฟังการบรรยายพิเศษ การประชุมวิชาการนานาชาติ ว่าด้วยการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์หลังภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  เป็นวันที่ 2

โอกาสนี้ ทรงรับฟังการบรรยายจาก มิส ซูฮยอน คิม (Miss Soohyun Kim) ผู้อำนวยการของสำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ เกี่ยวกับความสำคัญของวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงและฟื้นฟูสังคมโลกอย่างยั่งยืน ซึ่งการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์  เป็นส่วนหนึ่งของทุกๆอย่างในงานด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงการบรรยายจากศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดรูว์ ไวสส์แมน (Professor Dr. Drew Weissman) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ปี 2023 จากผลงานการพัฒนาวัคซีน mRNA และเป็นผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2564 ซึ่งกล่าวถึงงานวิจัยที่นำ nucleoside-modified mRNA-LNPs มาใช้ในการรักษาด้วยยีน (gene therapy) ซึ่งพบว่าสามารถพัฒนาความจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์เป้าหมายเพื่อรักษาโรคได้ เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว ซึ่งงานวิจัยเกี่ยวกับ nucleoside-modified mRNA นี้ มีศักยภาพในการที่จะพัฒนาเป็นแนวทางในการรักษาโรคต่างๆ ส่วน ศาสตราจารย์ ยอง-ฮุน คิม (Young-Hoon Kim ) จากมหาวิทยาลัยการศึกษาแห่งชาติเกาหลี บรรยายถึงกรณีศึกษา จากโครงการการศึกษาและการฝึกอบรมครูของเกาหลีใต้ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อประเทศอื่น ๆ ในยุคการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล มีผลกระทบต่อการศึกษาเนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ในสถานศึกษาจึงควรมีทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล ที่จำเป็น รวมถึงการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์  โดยนำมาบูรณาการปรับให้เข้ากับวิชาต่างๆ    

นอกจากนี้ ทรงฟังการบรรยายจากนักการศึกษาชั้นนำที่ร่วมเสนอแนะแนวทางการฟื้นฟูการศึกษาหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่ปี  2563 ที่ทั่วโลกประสบกับปัญหาภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยสถานศึกษาต้องปิดเพื่อควบคุมการระบาดของโรค เป็นผลให้นักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตลอดจน การจัดการเรียนรู้ไม่สามารถทำได้อย่างปกติ ทำให้เกิดแนวทางการเรียนแบบใหม่มากมายเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ แต่ระบบออนไลน์ยังไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เนื่องจากในหลายประเทศพบว่า การจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์นั้น ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนไม่ดีเท่าการเรียนแบบปกติ อีกทั้งครูผู้สอนพบปัญหาในการสร้างสื่อประกอบการสอน และไม่สามารถสื่อสารกับผู้เรียนได้เหมือนการเรียนในชั้นเรียนปกติ นอกจากนี้ ยังเกิดความยากลำบากในการเรียนภาคปฏิบัติการ หรือการเรียนรู้ที่ต้องลงมือปฏิบัติจริงเพื่อสร้างทักษะต่าง ๆ ส่งผลให้นักเรียนขาดความรู้ความสามารถและทักษะปฏิบัติการ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะพัฒนาและส่งเสริมความรู้และประสบการณ์ด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้แก่ครู นักการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา พร้อมเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันแนวคิดและประสบการณ์ เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และนำเสนอผลงานวิชาการ ทั้งขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการในระดับนานาชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน ทั้งครู อาจารย์ นักศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ที่ปรึกษาด้านการศึกษา นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรทางการศึกษา ทุกระดับชั้นจากทั่วโลก รวมถึงหน่วยงานด้านการศึกษาทั้งภาครัฐและภาค เอกชน ที่มีส่วนขับเคลื่อน ปรับเปลี่ยนและพัฒนาแนวทางการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อระบบการศึกษาในอนาคต และมีแนวทางที่สามารถนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม