หน้าแรก > เศรษฐกิจ

IMF คาดการณ์ ‘เศรษฐกิจโลก’ อ่อนกำลังในปี 2023

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 เวลา 16:45 น.


มาราเกช, 11 ต.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันอังคาร (10 ต.ค.) รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับใหม่จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หัวข้อ “เนวิเกติง โกลบอล ไดเวอร์เจนซ์” (Navigating Global Divergences) ที่เผยแพร่ระหว่างการประชุมธนาคารโลก-กองทุนฯ ประจำปี 2023 ในเมืองมาราเกชของโมร็อกโก คาดการณ์ว่าการเติบโตทั่วโลกจะชะลอตัวจากร้อยละ 3.5 ในปี 2022 เหลือร้อยละ 3 ในปีนี้

รายงานระบุว่าเศรษฐกิจโลกกำลังอ่อนกำลังและไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด พร้อมคาดการณ์การเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.9 สำหรับปี 2024 ลดลงจากร้อยละ 3 ที่ประมาณการไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม สืบเนื่องจากการฟื้นตัวที่ล่าช้ากว่าคาดการณ์จากผลกระทบของการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) และวิกฤตในยูเครน

เมื่อมองย้อนกลับไป เศรษฐกิจโลกมีความยืดหยุ่นต่อการหยุดชะงักในตลาดพลังงานและอาหารอันเป็นผลพวงจากสงคราม ตลอดจนภาวะการเงินโลกที่ตึงเครียดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่สูงหลายทศวรรษ ทว่ามีความกังวลว่าการเติบโตจะยังคงล่าช้าและไม่สมดุล ขณะสัญญาณความไม่สอดคล้องระดับโลกเพิ่มสูงขึ้น

การชะลอตัวข้างต้นเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมากกว่าในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่หรือกำลังพัฒนา โดยสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว คาดว่าจะชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.6 ในปี 2022 เหลือร้อยละ 1.5 ในปี 2023 และร้อยละ 1.4 ในปี 2024 ท่ามกลางแรงกระตุ้นที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ของสหรัฐฯ และการเติบโตอ่อนกำลังกว่าที่คาดการณ์ในพื้นที่ยุโรป

ส่วนประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา คาดว่าอัตราการเติบโตจะลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 4.1 ในปี 2022 เหลือร้อยละ 4 ทั้งในปี 2023 และปี 2024 โดยมีการปรับลดลง 0.1 จุดในปี 2024

ขณะเดียวกัน กองทุนฯ เตือนว่าการแยกส่วนทางภูมิเศรษฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นไม่เพียงหมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก แต่ยังขัดขวางความร่วมมือพหุภาคีในการจัดหาสินค้าสาธารณะที่สำคัญ อาทิ การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและโรคระบาดใหญ่ต่างๆ ในอนาคต รวมถึงการรับประกันความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร

สำหรับความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์และอิสราเอลที่กำลังเกิดขึ้น ปีแอร์-โอลิเวอร์ กูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนฯ กล่าวว่าตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบของความขัดแย้งดังกล่าวที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก และกองทุนฯ กำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเตือนว่าเราได้เห็นถึงผลกระทบจากวิกฤตและความขัดแย้งครั้งก่อนแล้ว แน่นอนว่าสิ่งนี้สะท้อนความเสี่ยงของการหยุดชะงักที่อาจเกิดขึ้นทั้งในด้านการผลิตและขนส่งน้ำมันในภูมิภาค

ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ