หน้าแรก > สังคม > สุขภาพ

สธ. เปิด 7 ศูนย์เปลี่ยนลิ้นหัวใจ “พัลโมนารี” ทางสายสวน ลดอัตราเสียชีวิตผู้ป่วยหัวใจในเด็ก

วันที่ 28 เมษายน 2566 เวลา 10:10 น.


เป็นอีกหนึ่งข่าวดี สำหรับผู้ป่วย “โรคหัวใจแต่กำเนิดในเด็ก”  สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ “จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวนในเด็กและวัยรุ่น (International Training Hub for PPVI)” 7 แห่ง ประกอบด้วย :

- ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 
- ศูนย์โรคหัวใจนราธิวาสราชนครินทร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 
- ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลราชวิถี 
- สถาบันโรคทรวงอก 
- โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
- โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี
- โรงพยาบาลหาดใหญ่

การจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว จะช่วยให้เกิดการ "พัฒนาทักษะการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารี" ทางสายสวนมากขึ้น และ "ลดอัตราการเสียชีวิต" ของผู้ป่วยโรคหัวใจในเด็กและวัยรุ่นของประเทศ

โดยในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจกว่า 4,000 ราย ในจำนวนนี้ต้องกลับมารับการผ่าตัดซ้ำกว่า 400 ราย

สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารี ก็เพื่อ “ทดแทนลิ้นหัวใจเดิมที่เสื่อมสภาพ เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจซ้ำบ่อยที่สุด

ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้เริ่มให้บริการเปลี่ยนลิ้นหัวใจพัลโมนารีทางสายสวน ตั้งแต่ปี 56 ปัจจุบันให้การรักษาผู้ป่วยไปแล้ว 50 ราย

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี พบว่า ลิ้นหัวใจที่เปลี่ยนให้ผู้ป่วย “ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” และใช้ชีวิตได้เป็นปกติ สามารถประกอบอาชีพดูแลตนเองและครอบครัวได้


 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ