หน้าแรก > สังคม

แถลงข้อเท็จจริง "แผ่นดินไหว-ภัยสึนามิ" สร้างความเข้าใจ ลดความตื่นตระหนก พร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมเผชิญเหตุ ตลอด 24 ชม.

วันที่ 7 กรกฎาคม 2568 เวลา 14:54 น.


รมช.มท.ธีรรัตน์ นั่งหัวโต๊ะแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแผ่นดินไหวและภัยสึนามิ พร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมเผชิญเหตุแผ่นดินไหวและภัยสึนามิ ตลอด 24 ชม. ขอประชาชนมั่นใจ "ตระหนักแต่ไม่ตระหนก"

วันนี้ (7 ก.ค. 68) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม 1 ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุมและแถลงข่าวเพื่อซักซ้อมความเข้าใจการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนแผ่นดินไหวและภัยสึนามิ เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกรณีเกิดแผ่นดินไหวในทะเลทั้งในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก และลดความตื่นตระหนกและความกังวลใจให้กับพี่น้องประชาชน โดยมีนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายนัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นายสุเมธ สายทอง รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายชัยรัตน์ แก้วเพียงเพ็ญ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเตือนภัย กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย นายอังกูร ศีลาเทวากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง และจังหวัดสตูล เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ และผู้บริหาร ปภ. ส่วนกลาง เข้าร่วมการประชุมฯ

นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสื่อต่าง ๆ ได้มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวในทะเล ทั้งฝั่งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเกิดสึนามิที่จะส่งผลกระทบกับประเทศไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความห่วงใยกับกระแสข้อมูลข่าวสารที่อาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดการประชุมและแถลงข่าวเพื่อซักซ้อมความเข้าใจการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนแผ่นดินไหวและภัยสึนามิขึ้น โดยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี และกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมหารือแนวทางการสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและลดความตื่นตระหนกและความกังวลใจให้กับพี่น้องประชาชน

รมช.มท.ธีรรัตน์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้นำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงของการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ สาธารณรัฐอินเดีย รวมถึงแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณประเทศญี่ปุ่นและผลกระทบต่อประเทศไทย ข้อมูลรอยเลื่อนของแผ่นดินไหวฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทยที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย การชี้แจงแนวทางการเฝ้าระวังและการเตรียมพร้อมแนวทาง การรับมือแผ่นดินไหวและภัยสึนามิของประชาชน โดยขอเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบว่า กรมอุตุนิยมวิทยามีการทำงานเพื่อตรวจวัดข้อมูลแผ่นดินไหวทั่วโลก ตลอด 24 ชั่วโมง ที่มีมาตรฐานสากล และมีการตรวสอบการเกิดแผ่นดินไหวร่วมกับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบเรียลไทม์ สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะแนวระนาบ ทำให้ไม่มีการเกิดคลื่นสึนามิทางฝั่งทะเลอันดามันขึ้น สำหรับกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวของประเทศญี่ปุ่นนั้น เนื่องด้วยระยะทางค่อนข้างไกลจากประเทศไทย จึงไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยอย่างแน่นอน ในส่วนของกรมทรัพยากรธรณี ยังได้ให้ข้อมูลที่ตรงกันว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. - 4 ก.ค. 68 ซึ่งมีขนาดแผ่นดินไหวประมาณ 3.2 - 4.9 เกิดขึ้นทั้งสิ้น จำนวน 114 ครั้ง โดยในทะเลอันดามันด้านตะวันออกของหมู่เกาะนิโคบาร์มีตำแหน่งสัมพันธ์กับรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกและเป็นรอยเลื่อนแบบระนาบ ไม่ได้เกิดจากการยุบตัว และขนาดไม่เกิน 7.5 ทำให้ไม่เกิดคลื่นสึนามิที่กระทบต่อพื้นที่อันดามัน

ด้านนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า วันนี้ระบบการแจ้งเตือนภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีมาตรฐานสากล เรามีการรับข้อมูลการเกิดสาธารณภัยจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะข้อมูลจาก Tsunami Service Providers 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน ปภ.ได้จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานชด้านการแจ้งเตือนภัยสึนามิ (Standard Operation Procedure : SOP) ที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกำหนดเกณฑ์ระดับในการแจ้งเตือนภัยสึนามิร่วมกัน โดยกำหนดให้มีการรายงานข่าวเกิดแผ่นดินไหวบนบกในพื้นที่ประเทศไทยตั้งแต่ขนาด 2.5 - 3.9 และจะส่ง Cell Broadcast ตั้งแต่ขนาด 4 ขึ้นไป แผ่นดินไหวในทะเลทั้งบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย กำหนดให้มีการรายงานข่าวตั้งแต่ขนาด 5.0 - 5.9 และจะส่ง Cell Broadcast ตั้งแต่ขนาด 6 ขึ้นไป นอกจากนี้ ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ชายฝั่งอันดามัน ปภ. ยังได้ติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ ประกอบไปด้วย หอเตือนภัย จำนวน 129 หอ อุปกรณ์รับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม EVAC จำนวน 47 แห่ง ซึ่งได้กำหนดการเกณฑ์การแจ้งเตือนภัยเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในทะเลบริเวณรอยเลื่อนซุนดา ตั้งแต่ขนาด 7.5 ขึ้นไป หากเกิดแผ่นดินไหวในทะเลบริเวณรอยเลื่อนซุนดา ตั้งแต่ขนาด 7.5 ขึ้นไป ปภ. จะทำการแจ้งเตือนภัยสึนามิไปยังพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และจังหวัดสตูล พร้อมส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังประชาชนผ่านระบบ Cell Broadcast และส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert (TDA) ส่งข้อมูลไปยัง TV Digital ผ่านระบบ BAS และแจ้งข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นอกจากนี้ ปภ. ได้มีการจัดการฝึกซ้อมแผนภัยจากคลื่นสึนามิเป็นประจำทุกปี เพื่อซักซ้อมการปฎิบัติและสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการแจ้งเตือนภัยสึนามิ เส้นทางอพยพกรณีเกิดสึนามิ ศูนย์พักพิงและแนวทางการให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยการฝึกซ้อมดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี

รมช.มท.ธีรรัตน์ ยังได้กล่าวต่อว่า เพื่อให้การเตรียมพร้อมรับมือภัยจากสึนามิเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ดำเนินการดังนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัด ดูแลและเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยสึนามิ ทั้งด้านบุคลากร ทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ เส้นทางอพยพ ศูนย์พักพิง และงบประมาณที่จำเป็น รวมถึงขอให้จังหวัดประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิ มีการฝึกซ้อมการปฎิบัติในกรณีเกิดเหตุสึนามิอย่างสม่ำเสมอ พร้อมจัดให้มีและปรับปรุงป้ายบอกเส้นทางการอพยพให้เห็นชัดเจน และขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยติดตามเฝ้าระวังการแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์เตือนภัยให้สามารถใช้การได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หากพบการชำรุด ให้เร่งบำรุงรักษาจนสามารถใช้งานได้ตามปกติ ตลอดจนขอให้กรมประชาสัมพันธ์และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับแผ่นดินไหวและสึนามิ ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างสม่ำเสมอ และขอให้กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการสำรวจอาคารต่าง ๆให้มีความพร้อมรองรับและมีความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนที่อยู่อาศัยในอาคารในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว

“วันนี้ได้เห็นแล้วว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อม 100% ทั้งระบบการแจ้งเตือนภัย องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อการนำมาใช้ในการวิเคราะห์ แจ้งเตือน รวมถึงแผนการดำเนินงานในเชิงป้องกันสาธารณภัย ดังนั้น ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจได้เลยว่า หากมีแนวโน้มหรือประเมินแล้วว่าจะเกิดสึนามิขึ้น ภาครัฐสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที ดั่งชื่อ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่มีภารกิจต้องสามารถป้องกันภัยให้กับพี่น้องประชาชนได้จริง และเกิดความเสียหายจากภัยพิบัติน้อยที่สุด ดังนั้นการเตรียมความพร้อมรับมือคือสิ่งที่สำคัญ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์และการกระจายข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งขอให้ประชาชนรับฟังข่าวสารจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรง และมีการติดตามรับฟังข้อมูลจากทางราชการ แหล่งข้อมูล และช่องทางสื่อที่เชื่อถือได้ เพื่อให้เกิดความตระหนักที่ไม่ตระหนก” รมช.มท.ธีรรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ