หน้าแรก > เศรษฐกิจ

​“เอกนัฏ” เยือนโรงงานน้ำตาลพิษณุโลก เตรียมจัดอบรมการใช้เครื่องสางใบอ้อยเสริมความรู้ชาวไร่ พร้อมผลักดันการผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากใบอ้อย เพิ่มรายได้เกษตรกร

วันที่ 27 มิถุนายน 2568 เวลา 04:09 น.


​“เอกนัฏ” เยือนโรงงานน้ำตาลพิษณุโลก เตรียมจัดอบรมการใช้เครื่องสางใบอ้อยเสริมความรู้ชาวไร่ พร้อมผลักดันการผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากใบอ้อย เพิ่มรายได้เกษตรกร

(23 มิถุนายน 2568) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำทีมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมข้าราชการในพื้นที่ ร่วมลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ บริษัท น้ำตาลพิษณุโลก จำกัด จ.พิษณุโลก และมีนายชาญ​ ฉันวิภว กรรมการผู้จัดการใหญ่โรงงานน้ำตาลพิษณุโลก ให้การต้อนรับ

นายเอกนัฏ รับฟังบรรยายสรุปและข้อคิดเห็นของบริษัทน้ำตาลพิษณุโลก​ ซึ่งมีการดำเนินการตามนโยบายที่กระทรวงอุตสาหกรรมแนะนำ ทั้งมาตรการกำกับดูแลการเผาอ้อย​ ในการช่วยรณรงค์​ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยรับรู้รับทราบผลเสียและผลกระทบจากการเผาอ้อย ลดการสร้างฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อย เพื่อสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และยังมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบาย 4 มิติของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งการปรับตัวสู่ s - curve ใหม่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต การมีส่วนร่วมในการดูแลสังคมและชุมชน การดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งการลดปัญหา PM 2.5 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการน้ำเสีย ขยะ และกากอุตสาหกรรม และการสร้างรายได้ การกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน เพื่อให้สถานประกอบการอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

นายเอกนัฏ กล่าวขอขอบคุณเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคการเกษตร ในฤดูการผลิตปี 2567/68 ลดการเผาอ้อยได้อยู่ในระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ที่ร้อยละ 14.86 และหวังในฤดูการผลิตปีหน้าเกษตรกรชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลจะสามารถทำตัวเลขอ้อยเผาได้ลดลงกว่าปีนี้ นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้โรงงานและเกษตรกรชาวไร่อ้อย ศึกษาและให้ความสนใจในเรื่องการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ที่ผลิตจากใบอ้อย โดยหากมีการส่งเสริมให้นำใบอ้อยซึ่งปล่อยทิ้งอยู่ในแปลง หรือถูกเผาทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ที่มีเป็นล้านตัน ผ่านกลไกส่งเสริมการซื้อขายใบและยอดอ้อย เพื่อนำใบและยอดอ้อยไปผลิตไฟฟ้าขายให้กับภาครัฐ โดยเงินจะหมุนกลับไปหาเกษตรกรชาวไร่อ้อยอีกทางหนึ่ง และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน การผลิตอ้อยสดโดยไม่เผาเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับพลาสติกชีวภาพจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรไทย ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

 

 

 

 

 

ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ