วันที่ 24 มิถุนายน 2568 เวลา 15:59 น.
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.68 ที่ห้องกรุงเทพ 2 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กทม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้ พล.อ.พิสิษฐ์ นพเมือง เจ้ากรมพระธรรมนูญ กรมพระธรรมนูญ ร่วมกับ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ไอซีอาร์ซี (International Committee of the Red Cross – ICRC) ซึ่งเป็นเป็นองค์กรที่ไม่เลือกปฏิบัติ มีความเป็นกลาง และเป็นอิสระ มีภารกิจหลักด้านมนุษยธรรมในการคุ้มครองชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการขัดกันทางอาวุธและสถานการณ์รุนแรงอื่น จัดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในหัวข้อ “กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและเทคโนโลยีใหม่ในการสงคราม” ขึ้น ระหว่างวันที่ 24- 26 มิ.ย.68
เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ปฏิบัติงานทางทหาร ผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรม รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการพิจารณาประเด็นซับซ้อนที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้เพิ่มขึ้นในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ ให้สามารถจัดการกับความท้าทายใหม่ ๆ ในด้านมนุษยธรรม กฎหมาย และจริยธรรม
รวมทั้ง ยังเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ในการทำสงครามระหว่างประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแปซิฟิก อันจะเป็นการเสริมสร้างความเคารพต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ตลอดจนระบุแนวทางที่เหมาะสมในการปรับเปลี่ยนนโยบายและหลักนิยมทางทหารในระดับประเทศ
โดยเช้าวันนี้ เจ้ากรมพระธรรมนูญ ได้กล่าวเปิดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในหัวข้อ “กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและเทคโนโลยีใหม่ในการสงคราม” โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการมีส่วนร่วมจัดการความท้าทายเหล่านี้ และส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค รวมทั้งขอบคุณคณะกรรมการ กาชาดระหว่างประเทศที่ได้ให้การสนับสนุนการจัดประชุมขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกองทัพไทยและมิตรประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ร่วมกันสร้างเครือข่าย และร่วมกันกำหนดแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป
ทั้งนี้ นายฮวน เปโดร เชเรอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ ของไอซีอาร์ซี กล่าวเน้นย้ำว่าการพัฒนาอย่างรวดเร็วของขีดความสามารถทางไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และอากาศยานไร้คนขับ กำลังพลิกโฉมปฏิบัติการทางทหารไปอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าความก้าวหน้าเหล่านี้จะสร้างความได้เปรียบใหม่ในเชิงกลยุทธ์ เช่น ความแม่นยำที่สูงขึ้นในการกำหนดเป้าหมาย และการลดความเสี่ยงต่อกำลังพล แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดคำถามทางกฎหมายและจริยธรรมที่ซับซ้อนภายใต้กรอบของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
ส่วนการประชุมในวันนี้ จะมุ่งเน้นประเด็นเกี่ยวกับกรอบกฎหมายสำหรับเทคโนโลยีใหม่ในการสงคราม รวมถึงความท้าทายเฉพาะที่เกิดจากกิจกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานการณ์การขัดกันทางอาวุธ สำหรับสองวันถัดไป ผู้เข้าร่วมจะได้หารือเชิงลึกในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ ระบบอาวุธอัตโนมัติ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการตัดสินใจทางทหาร เครื่องหมายกาชาดดิจิทัล การปฏิบัติการทางทหารในห้วงอวกาศ และการจัดการข้อมูลที่เป็นอันตรายในสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งการประชุมกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและเทคโนโลยีใหม่ในการสงครามนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกองทัพไทย และมิตรประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างเครือข่าย และร่วมกันกำหนดแนวทางที่เป็นประโยชน์ในภูมิภาคของต่อไป
26 กรกฎาคม 2568
26 กรกฎาคม 2568
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา
อ่านเพิ่มเติมยอมรับ