วันที่ 24 มิถุนายน 2568 เวลา 12:33 น.
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยพล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท. ดำเนินการคืนเงินให้ผู้เสียหาย ที่ถูกหลอกลงทุนเทรดหุ้น จากกรณีเมื่อประมาณเดือนมกราคม 2568 ผู้เสียหายได้พบกับข้อความประกาศโฆษณาผ่านโซเชียล มีการชักชวนให้ทำการลงทุนเทรดหุ้น ของบัญชีเพจเฟซบุ๊กชื่อหนึ่ง เนื่องจากบริษัทฯ ดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือและมีการจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากนั้นผู้เสียหายได้มีการติดต่อไปยังแอดมินของเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว ต่อมา คนร้ายได้ให้ผู้เสียหายพูดคุยต่อผ่านแอปพลิเคชัน Line และชักชวนให้ผู้เสียหายทำการลงทุนเทรดหุ้น โดยคนร้ายมีการแบ่งประเภทการลงทุนหลากหลายรูปแบบ ในลักษณะยิ่งลงทุนมากยิ่งได้ผลตอบแทนในจำนวนที่มากขึ้น โดยคนร้ายแอบอ้างเป็นทั้งบริษัท , โบรกเกอร์ รวมทั้งแอบอ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญการลงทุน ต่างๆ หลังจากผู้เสียหายหลงเชื่อทำการโอนเงินลงทุนไปยังบัญชีธนาคารของคนร้าย จากนั้น คนร้ายจะส่งลิงก์เว็บไซต์ลงทุนที่สร้างขึ้นมาเอง ซึ่งไม่มีการลงทุนจริง โดยเว็บไซต์ดังกล่าวจะปรากฏยอดเงินลงทุนและกำไรของผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนจริง จากนั้น ผู้เสียหายได้ทำการลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมเป็นเงินมูลค่าเกือบ 1 ล้านบาท และต่อมาเมื่อผู้เสียหายต้องการจะถอนเงินลงทุนและค่าตอบแทนดังกล่าว ผู้เสียหายจะไม่สามารถถอนเงินออกจากระบบได้ จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวง และเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท.
โดยหลังจากที่ผู้เสียหายรู้ตัวว่าถูกหลอกลวง ผู้เสียหายได้โทรแจ้งไปยัง ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (AOC) ที่สายด่วน 1441 ทันที โดยแจ้งพฤติการณ์, วันเวลา, จำนวนเงิน, บัญชีธนาคารปลายทาง และข้อมูลอื่นๆที่เจ้าหน้าที่สอบถาม ทำให้เงินบางส่วนของผู้เสียหายสามารถอายัดไว้ได้ทันท่วงที ต่อมา 23 มิ.ย. 68 เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง โดย บก.ปอท. ได้ทำการติดต่อผู้เสียหายในคดีนี้ เพื่อมอบเงินที่สามารถอายัดได้ จำนวนกว่า 5 แสนบาท
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชน โปรดใช้ความระมัดระวัง ในการลงทุน และควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนการลงทุนทุกครั้ง อย่ารีบตัดสินใจลงทุน หรือหลงเชื่อบุคคลอื่นที่ชักชวนโดยง่าย เพราะปัจจุบันมิจฉาชีพมักแอบอ้างข้อมูลที่ปลอมขึ้นมาเองทั้งหมด เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ พร้อมใช้ข้อความและผลตอบแทนที่น่าสนใจให้แก่ประชาชน ขณะเดียวกันสามารถตรวจสอบเบื้องต้นว่า บัญชีโซเชียลมีเดีย หรือเพจเฟซบุ๊ก ดังดังกล่าว น่าเชื่อถือหรือไม่ ด้วยการนำชื่อ บัญชีโซเชียลมีเดีย, เว็บไซต์, เพจ รวมถึงหมายเลขบัญชี และชื่อบัญชีผู้รับโอนเงิน ไปตรวจสอบ ทางเว็บไซต์ที่ช่วยตรวจสอบหรือเช็กคนโกง เช่น Blacklistseller , http://xn--92cwp0c0b2a7i.com/ เป็นต้น ก่อนที่จะทำธุรกรรมทางการเงินทุกชนิด เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงดังกล่าว
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา
อ่านเพิ่มเติมยอมรับ