หน้าแรก > การเมือง

'เสรีพิศุทธ์' ร้อง ผบ.ตร. จับ 'ฮุน เซน' ตัวการสั่งฆ่านักการเมืองเห็นต่างทางการเมืองในไทย ยืนยันความผิดชัด

วันที่ 23 มิถุนายน 2568 เวลา 12:06 น.


วันนี้ (23 มิ.ย.68) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ สมเด็จฮุนเซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา (อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา) ความผิดต่อกฎหมายไทย จากกรณีที่สมเด็จฮุนเซนได้มีการสั่งให้นายเกียงฮวด รองผู้ว่าการกรุงพนมเปญ ร่วมกับตำรวจไทยสายเสื้อแดง ฆ่านายลิม คิมยา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ในประเทศไทย ซึ่งคลิปเสียงดังกล่าวเผยแพร่ผ่านสำนักข่าวอัลจาซีรา

ต่อมาทางการกัมพูชา ปฏิเสธคลิปเสียงโดยระบุว่าเป็นคลิปเสียงที่ทำโดยเทคโนโลยี AI แต่จากการยืนยันโดยผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี คลิปเสียงดังกล่าวถูกยืนยันว่าเป็นคลิปเสียงสมเด็จฮุนเซนจริง และต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายพร พันนา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝั่งตรงข้ามสมเด็จฮุนเซน ที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2565 ถูกชายแปลกหน้า 3 คนที่พูดภาษากัมพูชาทุบตีที่จังหวัดระยองได้รับบาดเจ็บที่หน้าและหน้าอก

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏเช่นนี้ ตนในฐานะอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ทราบกฎหมาย ว่าการกระทำดังกล่าวแม้จะเป็นการสั่งมาจากนอกราชอาณาจักร มาดำเนินการในประเทศไทยก็ถือว่าเป็นความผิดในกฎหมายไทยด้วย วันนี้จึงต้องร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี สมเด็จฮุนเซน โดยเอกสารที่ตนนำมายื่นให้ประกอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 85 ที่บัญญัติว่าผู้ใดโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด และความผิดนั้นมีอัตราโทษไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ก็จะต้องรับโทษในความผิดบัญญัตินั้นเสมือนเป็นตัวการ

“ตนเองเป็นอดีตตำรวจไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายที่จะไปเรียกใครมาสอบสวน จึงจำเป็นต้องให้ลูกน้องเก่าซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายไปดำเนินการติดตามจับกุม วันนี้ตนมาเสนอแนะ สิ่งที่เกิดขึ้นและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ตำรวจจะสอบสวนฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องให้อัยการสูงสุดมาเป็นพนักงานสอบสวนร่วมด้วย” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

เมื่อถามถึงข้อมูลที่นำมาร้องทุกข์กล่าวโทษวันนี้จะเป็นประเด็นนำไปปราศรัยสำหรับกลุ่มผู้ชุมนุมที่นัดหมายวันที่ 28 มิ.ย.หรือไม่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีความระดับประเทศ ที่ต้องมีอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ส่วนกรอบระยะเวลาตนเองไม่ได้กดดันเจ้าหน้าที่ เพราะมีหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ แต่หากตำรวจไม่ทำก็จะเข้าข่ายความผิดมาตรา 157 ซึ่งตนเองจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ