หน้าแรก > สังคม

"ศุภมาส" ชงแผนรับมือ “นโยบายทรัมป์” เร่งช่วยนักเรียนทุน พร้อมคลอด 3 มาตรการพลิกวิกฤตสู่โอกาส ผลักดันไทยสู่ "Education Hub"

วันที่ 17 มิถุนายน 2568 เวลา 16:18 น.


รมว.อว.“ศุภมาส” ชงแผนรับมือ “นโยบายทรัมป์” เร่งช่วยนักเรียนทุนทั้ง FAFSA หรือ Fulbright และทุนอื่นๆ จัดหาทุนสำรอง ดูแลเรื่องวีซ่า โอกาสการทำงานในไทยหรือประเทศทางเลือก คลอด 3 มาตรการพลิกวิกฤตสู่โอกาส หาพันธมิตรประเทศทางเลือกที่มีนโยบายเปิดกว้าง พร้อมผลักดันไทยสู่ "Education Hub"  

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2568 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2568 มีมติรับทราบมาตรการรับมือผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ที่มีต่อระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของไทย เช่น นโยบาย “America First Foreign Aid”, การยกเลิกการสนับสนุนความหลากหลาย (DEI), และการปฏิรูประบบตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มข้นขึ้น (Extreme Vetting) มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือด้านการศึกษาและทุนวิจัยระหว่างไทยและสหรัฐฯ รวมถึงโอกาสของนักศึกษาและนักวิจัยไทยในสหรัฐอเมริกา

รมว.กระทรวง อว. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมฯ ได้เน้นย้ำให้เปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสในการสร้างความเข้มแข็งและยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ซึ่ง กระทรวง อว.ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้เตรียมแผนรับมือ 3 ระยะ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเป็นระบบและทันท่วงที โดยได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อลดผลกระทบต่อระบบ อววน. ของประเทศไทย ประกอบด้วยแผนปฏิบัติการ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น (ภายใน 1 ปี): ตั้งรับเชิงรุก ช่วยเหลือนักศึกษาไทย ในระยะเร่งด่วน กระทรวง อว.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งสำรวจจำนวนนักเรียนนักศึกษาไทยที่พึ่งพาทุนรัฐบาลสหรัฐฯ เช่น FAFSA หรือ Fulbright เพื่อเตรียมมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้นผ่านสถานเอกอัครราชทูตไทยในสหรัฐฯ พร้อมทั้งจัดทำบัญชีโครงการวิจัยที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อจัดหาทุนสำรองและกระจายความเสี่ยงโดยขยายความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ รวมถึงการมอบหมายหน่วยงานทำหน้าที่ให้คำแนะนำเรื่องวีซ่าและโอกาสการทำงานในไทยหรือประเทศทางเลือก

ส่วนระยะกลาง (1-3 ปี): ปรับกลยุทธ์ สร้างพันธมิตรใหม่ ประเทศไทยจะใช้การทูตผลักดันโครงการที่สอดคล้องกับผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เพื่อรักษาความร่วมมือ พร้อมกันนี้จะจัดทำข้อมูลแนะแนวการศึกษาต่อในประเทศทางเลือกที่มีนโยบายเปิดกว้าง เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา จีน และออสเตรเลีย นอกจากนี้ จะเร่งพัฒนาหลักสูตรในไทยให้มีคุณภาพสูงเพื่อรองรับนักศึกษาไทยและต่างชาติ พร้อมออกมาตรการดึงดูดบุคลากรทักษะสูงทั้งชาวไทยและต่างชาติกลับสู่ประเทศ และระยะยาว (มากกว่า 3 ปี): พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ผลักดันไทยสู่ "Education Hub"  โดยมุ่งเน้นการยกระดับมหาวิทยาลัยไทยและพัฒนาหลักสูตรนานาชาติ (International Programs) ในสาขาอนาคตที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเศรษฐกิจดิจิทัล โดยจะสร้างความร่วมมือกับอาเซียนและสหภาพยุโรปเพื่อผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาและการวิจัย (Education Hub) ของภูมิภาค  และวางแผนพัฒนาภาคเอกชนไทยให้สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain)

“กระทรวง อว. มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อนักศึกษาและนักวิจัยของไทยที่อาจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านสถานะวีซ่า การสนับสนุนทางการเงินและวิชาการ โดยขอให้มั่นใจว่ากระทรวง อว. ได้เตรียมมาตรการรองรับเพื่อดูแลทุกท่านอย่างดีที่สุด เพราะทุกท่านคือบุคลากรคุณภาพที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ” น.ส.ศุภมาส กล่าว

ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ