หน้าแรก > สังคม

CIB ร่วม อย. บุก 6 มินิมาร์ท แอบขายยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไม่ขออนุญาต ไร้เภสัชกร บางแห่งใช้ต่างด้าวจ่ายยา

วันที่ 11 มิถุนายน 2568 เวลา 11:35 น.


กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมปฏิบัติการตรวจค้นร้าน จำหน่ายสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่หลายสาขา จำหน่ายสินค้าทั่วไป ลักลอบขายยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยไม่ได้รับอนุญาต จับกุมผู้ต้องหาที่ไม่ใช่เภสัชกร จำนวน 5 ราย รวมตรวจยึดของกลาง จำนวน 351 รายการ จำนวนกว่า 5,382 ชิ้น

สืบเนื่องจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้รับการประสานงานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีร้านค้าแห่งนี้ ซึ่งมีอยู่หลายสาขา สงสัยว่ามีการขายยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่มีใบอนุญาต อย. เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ทำการตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบขายยาแผนปันจุบันและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้ประชาชนทั่วไปโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติการจริง

ในวันที่ 6 มิถุนายน 2568 บก.ปคบ และ อย. ได้เข้าร่วมตรวจสอบ ผลการตรวจสอบพบร้าน พบมีการขายยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต ภายในพื้นที่จตุจักร และประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร จำนวน 6 จุด รวมตรวจยึดของกลาง จำนวน 351 รายการ จำนวนกว่า 5,382 ชิ้น มูลค่ากว่า 260,000 บาท ยาแผนปัจจุบัน 269 รายการ จำนวน 3,832 ชิ้น, และผลิตภัณฑ์สมุนไพร 82 รายการ จำนวน 1,483 ชิ้น ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไม่ขึ้นทะเบียน 6 รายการ จำนวน 67 ชิ้น ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดี

จากการสืบสวนขยายผล พบว่าร้านขายของทั้ง 6 ร้าน มีเจ้าของเครือข่ายเป็นบุคคลเดียวกัน โดยจะเลือกทำเลเปิดร้านอยู่ในศูนย์การค้าย่านจตุจักร และประตูน้ำ ซึ่งมีประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแวะเวียนเข้ามาเพื่อซื้อของฝากเพื่อให้ง่ายต่อการลักลอบจำหน่ายโดยไม่มีเภสัชกร แต่มีการลักลอบขายยาแผนปัจจุบัน ยาอันตราย และผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยไม่ได้ขออนุญาตเปิดร้านขายยา

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม

1. กรณีผู้ขายยาโดยไม่ใช่เภสัชกร จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537

- ฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. กรณีผู้ขายยาโดยไม่ใช่เภสัชกร และเจ้าของกิจการ จะมีความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510

- ฐาน “ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท

3. กรณีขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562

- ฐานขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

- ฐานขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่ได้แจ้งรายละเอียด หรือไม่ได้จดแจ้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. กรณีผู้ขายที่เป็นชาวต่างชาติ จะมีความผิดเพิ่มเติมตาม

- พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2510 ฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้” ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท และเมื่อได้ชำระค่าปรับแล้ว ให้ส่งคนต่างด้าวผู้นั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเร็ว

ด้าน เภสัชกร เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ขอย้ำเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ซึ่งจากการจับกุมพบผลิตภัณฑ์สมุนไพรไม่ขึ้นทะเบียน ซึ่งอาจใช้ไม่ได้ผลในการรักษา หรืออาจปนเปื้อนจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงขอย้ำเตือนพี่น้องประชาชนว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร ยา เครื่องสำอาง จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนจำหน่าย โดยสามารถดูเลขทะเบียนหรือเครื่องหมาย อย. ได้ที่ฉลากสินค้า ควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน สำหรับการซื้อผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต้องซื้อจากร้านที่ได้รับอนุญาตจาก อย.หรือ สสจ. ซึ่งจะมีเภสัชกรหรือผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านคอยให้คำแนะนำในการเลือกใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้ถูกต้องตรงตามอาการหรือโรคที่ต้องรักษา หรือการจ่ายยาตามการตรวจวินิจฉัยและสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน

ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ