วันที่ 5 มิถุนายน 2568 เวลา 17:42 น.
ด่วน! "รัฐบาลไทย" ออกแถลงการณ์กรณีไทย-กัมพูชา ฉบับที่ 2 ยืนยัน ประเทศไทยไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลโลกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 ย้ำ ใช้กรอบ "เจบีซี" ในทุกระดับแก้ปัญหาระหว่างกัน
5 มิถุนายน 2568 แถลงการณ์จากรัฐบาล กรณีสถานการณ์ชายแดน ไทย-กัมพูชา นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปะทะที่บริเวณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ทั้งสองฝ่ายได้หารือและตกลงกันที่จะใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่ในการแก้ไข ปัญหา ได้แก่ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Border Commission: JBC)คณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (General Border Committee: GBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee: RBC) บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทย กัมพูชา ซึ่งเป็นผลมาจากการหารือระหว่างผู้บัญชาการทหารบกของทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2568
ทั้งนี้ ตามที่ กัมพูชา แสดงความตั้งใจที่จะใช้กลไกของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(International Court of Justice: ICJ) นั้น ประเทศไทย ประกาศไม่ยอมรับในเขตอำนาจของ ICJ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 จนถึงปัจจุบัน โดยทั้งสองฝ่ายมีกลไกทวิภาคีในการจัดการประเด็นปัญหาชายแดนอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ตกลงกันตั้งแต่แรก สิ่งที่สำคัญคือ ทั้งสองฝ่ายต้องแก้ไขปัญหาในบริเวณที่มีการกระทบกระทั่งกันเท่านั้น ไม่ขยายประเด็นปัญหาออกไป ซึ่งจะสร้างความซับซ้อนของปัญหามากขึ้น
ประเทศไทยไม่ต้องการเห็นฝ่ายใดได้รับความสูญเสียใดๆ และประเทศไทยกัมพูชา มีกลไกเรื่องเขตแดนอยู่แล้ว ซึ่งกลไกดังกล่าวโดยเฉพาะการทำงานของ JBC ในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา ก็มีความคืบหน้าในหลายพื้นที่อย่างเห็นได้ชัด ดังเช่นในกรณีของสะพานมิตรภาพไทย - กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน ตำบทท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว -และบ้าน สตึงบทตำบลปอยเปต อำเภอโอโจรว จังหวัดบันเตียเมียนเจย) และการก่อสร้างสะพานข้ามพรมแดนแห่งใหม่ ไทย กัมพูชา ที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านผักกาด จังหวัดจันทบุรี กับบ้านปรม จังหวัดไพลิน กัมพูชา
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุม JBC ในวันที่ 14 มิถุนายน 2568 นี้ และหวังว่า ฝ่ายกัมพูชาจะแสดงถึงความปรารถนาเช่นเดียวกันในการร่วมมือกับไทยในลักษณะที่สะท้อนเจตนารมณ์ร่วมกันของเราในสันติภาพ เสถียรภาพ และการเคารพซึ่งกันและกัน“
28 กรกฎาคม 2568
28 กรกฎาคม 2568
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา
อ่านเพิ่มเติมยอมรับ