หน้าแรก > ภูมิภาค

ทีมควบคุมโรค ปศุสัตว์ลงพื้นที่ตำบลท่าแยก จ.สระแก้วเร่งสอบสวนโรค หลังพบผู้ป่วย โรคแอนแทรกซ์รายแรกของจังหวัด

วันที่ 2 มิถุนายน 2568 เวลา 20:09 น.


จากกรณีที่จังหวัดสระแก้วพบผู้ป่วยยืนยันโรคแอนแทรกซ์รายแรก เป็นชาย อายุ 53 ปี อาชีพรับจ้างตัดไม้ ภูมิลำเนาอยู่ตำบลท่าแยก อำเภอเมืองสระแก้ว ต่อมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพัทยาปัทมคุณ จังหวัดชลบุรี ด้วยอาการตุ่มแผลบริเวณศีรษะและบริเวณร่างกาย ผู้ป่วยมีพฤติกรรมเสี่ยง คือ ดื่มสุราเป็นประจำ ชอบบริโภคก้อย ซอยจุ๊ เนื้อดิบเป็นประจำ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันพบเชื้อโรคแอนแทรกซ์

นายแพทย์ธราพงษ์ กัปโก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า วันนี้ (2 มิถุนายน 2568) ทีมสอบสวนโรคจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค , สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ,ด่านกักกันสัตว์จังหวัดสระแก้ว ,สำนักงานปศุสัตว์เขต 2 ,สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว ,ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออก ,สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองสระแก้ว ได้ลงพื้นที่ไปสอบสวนโรคโดยสัมภาษณ์ผู้ใกล้ชิดร่วมบ้าน อสม. ผู้นำชุมชน และผู้สัมผัสเชื้อเพื่อหาเบาะแสรวมทั้งลงไปยังบ้านผู้ป่วย

เบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยอาศัยอยู่ที่ตำบลท่าแยกมาประมาณ 5 ปี ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาผู้ป่วยรับจ้างตัดไม้ยูคาลิปตัส โดยพักค้างในแปลงไม้ลักษณะแคมป์คนงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 มีควายถูกยิงตายและได้นำเนื้อมาชำแหละ ผู้ป่วยได้ร่วมกินก้อยดิบด้วย อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ร่วมชำแหละและคนที่กินก้อยดิบคนอื่นๆ ยังไม่มีใครมีอาการป่วย

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวต่ออีกว่า หลังจากนั้นในช่วงบ่ายทีมสอบสวนโรคได้ประชุมวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาเพื่อหาแนวทางดำเนินการควบคุมโรคร่วมกัน ก่อนที่จะลงพื้นที่ในเวลาต่อมาเพื่อสอบสวนโรคเพิ่มเติม โดยค้นหาผู้สัมผัส ในกิจกรรมและพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ จุดฆ่าควาย จุดชำแหละควาย แคมป์คนงานในแปลงไม้ บ้านผู้ป่วย และคอกวัวที่อยู่ข้างแคมป์ในแปลงไม้ พร้อมให้ยาป้องกันหลังสัมผัส ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม โดยการทบทวนเวชระเบียนของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคลองผักขม มีแผนจัดระบบเฝ้าระวังโรคต่อเนื่อง รวมถึงค้นหาผู้ป่วยหรือสัตว์ตายผิดปกติในพื้นที่ตำบลท่าแยก และทำลายเชื้อในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในสถานที่และอุปกรณ์ที่ใช้ชำแหละ เก็บสิ่งส่งตรวจในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน มีด และอุปกรณ์ชำแหละในจุดต่างๆ และสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อ โดยปศุสัตว์จะดำเนินการส่งตรวจตามระบบ

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า จากการสอบสวนโรคพบยังไม่พบผู้ป่วยสงสัยและผู้ป่วยสงสัยหรือประวัติสัมผัสโรคเข้าข่าย ในส่วนของกลุ่มเสี่ยงและผู้สัมผัส มีผู้ชำแหละ 7 ราย ผู้รับประทานเนื้อดิบ 30 ราย และผู้สัมผัสร่วมบ้าน 4 ราย ในส่วนข้อมูลสัตว์จากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระแก้วในรัศมี 5 กิโลเมตร พบโค 243 ตัว และแพะ 29 ตัว โดยมีแผนดำเนินการฉีดวัคซีนและยาปฏิชีวนะในโคและกระบือในพื้นที่เสี่ยงในวันที่ 3 มิถุนายน 2568 ปัจจุบันยังไม่พบสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติ

ยังคงเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคแอนแทรกซ์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการ งดบริโภคเนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงไม่สุก และ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติ รวมถึงรีบไปพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติ

 

 

 

 


 

ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ