วันที่ 9 พฤษภาคม 2568 เวลา 02:19 น.
รวบ "มือการเงิน" 120 ล้าน เครือข่ายยาเสพติดภาคเหนือ
กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) โดย พล.ต.ต.ทรงกลด เกริกกฤตยา ผบก.ปคม. พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปคม. ร่วมกันจับกุม นายนนท์ (นามสมมุติ) อายุ 61 ปี ในความผิดฐาน “สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) โดยการมีไว้เพื่อจำหน่าย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า และเป็นการก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน และเป็นการทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปโดยผิดกฎหมาย และสมคบกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน”
ตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ซึ่งหมายจับดังกล่าวอยู่ในโครงการประกาศสืบจับผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายสำคัญ ตามหมายจับ ประจำปี 2568 ลำดับที่ 146 ของสำนักปราบปรามยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และจากการตรวจสอบพบว่า ผู้ต้องหา ยังมีหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ในความผิดฐาน “สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ฐานสมคบโดยตกลงร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดฯ อีก 1 หมาย จับกุมได้ที่ บริเวณปากซอยแห่งหนึ่งใน จังหวัดสุพรรณบุรี
สืบเนื่องจากเมื่อกลางปี 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทลายการขนยาเสพติดเครือข่ายภาคเหนือ ด้วยการจับกุมนักลำเลียงยาได้ 1 คน ของกลางยาบ้าถึง 30 กระสอบ จำนวน 6,000,000 เม็ด และยาไอซ์อีก 30 กิโลกรัม ที่ซุกซ่อนเตรียมส่งลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากชายแดนภาคเหนือตอนบนส่งต่อไปยังลูกค้าในพื้นที่ภาคกลางของประเทศ เพื่อกระจายให้กลุ่มผู้ค้ารายย่อยและนักเสพยา แต่การจับครั้งนั้นเองที่ทำให้เจ้าหน้าที่เห็นภาพเบื้องหลังที่ใหญ่กว่านั้น พบว่านี่คือการทำงานแบบ “ครบวงจร” ของเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่ ที่มีการ “แบ่งหน้าที่กันทำ” อย่างชัดเจน มีตั้งแต่ “ผู้ว่าจ้าง” หรือตัวบงการ: คนคอยสั่งการใหญ่ จัดหายาเสพติดจากต้นทาง , “ผู้บริหารบัญชีเงิน” หรือมือการเงิน: ตำแหน่งสำคัญคอยดูแล ด้านการเงินทั้งหมด คอยจัดการเงินหมุนเวียนมหาศาล , “นักขนยา” หรือนักลำเลียง: คนที่ต้องรับความเสี่ยงสูงสุด แบกยาเสพติดจากชายแดนลงมาตามคำสั่ง
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขยายผลพบว่า เครือข่ายนี้ขนยามาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง โดยครั้งที่ถูกจับกุมเป็นครั้งที่ 6 และจากการสืบสวนพบว่า นายนนท์ (นามสมมุติ) ผู้ต้องหาตามหมายจับ มีพฤติการณ์ เปิดบัญชีให้เครือข่ายดังกล่าวมีหน้าที่บริหารบัญชี จัดการเงิน โอนเงินจ่ายค่าจ้างให้นักขนยาที่เพิ่งถูกจับไป รวมถึงจัดการเงินที่ได้จากการค้ายาทั้งหมด ทั้งกดเงินสด โอนเงินไปให้หัวหน้าขบวนการ บางทีขนเงินสดข้ามพรมแดนไปส่งให้ผู้ว่าจ้างฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน และจากการตรวจสอบบัญชีของ นายนนท์ (นามสมมุติ) ยังพบว่ามีเงินหมุนเวียนที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายยาเสพติดนี้สูงถึงกว่า 120 ล้านบาท จากพฤติการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงขออนุมัติศาลออกหมายจับ นายนนท์ (นามสมมุติ) เพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่เมื่อนายนนท์ (นามสมมุติ) ทราบว่านักขนยา ที่ถูกว่าจ้างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้แล้ว และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะขยายผลถึงตนเองแน่นอน จึงได้หลบหนีผ่านช่องทางธรรมชาติไปกบดานที่ประเทศเพื่อนบ้าน กว่า 1 ปี
ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ได้ประกาศขึ้นบัญชี “ผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายสำคัญ” โดยระบุชื่อ นายนนท์ (นามสมมุติ) เป็นผู้ต้องหาขึ้นบัญชีดำ ลำดับที่ 146 ประจำปี 2568 พร้อมประกาศ “ตั้งค่าหัวรางวัล” เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกหน่วย เร่งรัดติดตามจับกุมตัวมาให้ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปคม. ได้สืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหารายนี้มาโดยตลอดจนทราบว่าผู้ต้องหาได้แอบหลบหนีกลับเข้ามาประเทศไทยกบดานอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปคม. จึงได้เดินทางไปเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณหน้าบ้านหลังดังกล่าว จากนั้นเห็นชายที่มีตำหนิรูปพรรณตรงกับผู้ต้องหา จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ พบว่าเป็นผู้ต้องหา จึงได้ดำเนินการจับกุมตัว พร้อมแจ้งสิทธิ และแจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับให้ผู้ต้องหาทราบ จากนั้นนำตัวผู้ต้องหาส่ง พนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เบื้องต้นผู้ต้องหา ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา
อ่านเพิ่มเติมยอมรับ