หน้าแรก > การเมือง

"ภูมิธรรม" สั่งปรับกำลังเพิ่มชุดคุ้มครองชาวพุทธ-กลุ่มเปราะบางชายแดนใต้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 เวลา 11:18 น.


วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่า ได้หารือกับผู้บัญชาการทหารบก แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อย่างใกล้ชิด สั่งปรับกำลัง จัดชุดคุ้มครองความปลอดภัย เข้าไปดูแลชาวไทยพุทธ และกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ทั้งนี้ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ไปให้กำลังใจทางเจ้าหน้าที่ และประชาชนแล้ว

ส่วนการพูดคุยสันติสุขกับตัวแทนกลุ่ม BRN หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบต่อเนื่อง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ "ยอมรับว่า การพูดคุยกับตัวแทนเดิม เริ่มทำให้รัฐบาลมีความไม่มั่นใจ เพราะไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ แต่อาจจะมีการพูดคุย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเวทีใด รัฐบาลยินดี เพราะต้องการให้เกิดความสงบอย่างแท้จริง แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของไทย บนหลักการประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว ข้อเสนอแบ่งแยกเป็นรัฐอิสระ หรือรัฐปาตานีนั้น ทำไม่ได้"

นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการพูดคุยกัน และมีการตกลงกันว่าจะให้ฝ่ายปฏิบัติการที่มีตนเองดูแลอยู่ พบกับ ผู้อำนวยการสะดวกทางมาเลเซีย ซึ่งเรา ได้พบกันแล้ว

ประเด็นแรก เราไม่ยอมรับความรุนแรง ดังนั้น ถ้าจะใช้ความรุนแรงมันยากที่จะมาเจรจากัน ถ้าเขายอมรับในสิ่งที่เราตกลงกันไว้ ว่า เราจะคุยกันอย่างสันติ คุณต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถยุติและมาเจรจากันได้ ไม่ใช่เราไม่พร้อมเจรจา ตนเองตั้งใจ และยินดีที่จะเจรจา ถ้าจะ แก้ไขปัญหาได้ การเจรจา ก็เพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาเราไม่รู้ว่าใครที่เป็นคนเจรจาได้ เพราะมี การเจรจามาโดยตลอด การสู้รบ การยิงก็ไม่เคยเกิดขึ้น ตอนเคย ทดลองในเดือนรอมฎอน ว่า ขอให้หยุดให้ได้ทั้งหมด แล้วเรา มาเริ่มต้นเจรจากัน แต่ช่วงปลายเดือนรอมฎอนก็เป็นเหมือนเดิม คือ มีการก่อเหตุ ดังนั้น ถ้าควบคุมไม่ได้ จะมีการ เจรจาเพื่ออะไร 

ซึ่งวันนี้ ตนเองพร้อม และทีม เจรจาก็พร้อมที่จะตั้งทันที หากทุกอย่าง เป็นไปตามเงื่อนไข ว่า ตัวแทนเจรจาสามารถสั่งการให้หยุดได้ โดยประเด็น ที่อยากเจรจา มีเงื่อนไข ที่ได้ฝากกับผู้อำนวยความสะดวกไป คือ ต้องหยุดเรื่องความรุนแรงจริง ๆ ไม่ใช่ เป็นการใช้เกมการเมือง ว่า อยาก ทำอะไร ปกติ ก็ต้องมีการเข่นฆ่า และออกแถลงการณ์มาประณามคนเข่นฆ่า ก็ไม่มี ความหมาย เพราะคนที่ดำเนินการต่อสู้กับรัฐอยู่ขณะนี้ ก็มีอยู่ กลุ่มเดียว เพราะฉะนั้น ต้องเลิกเล่นการเมือง และเลิก ทำตัวไม่ตรงกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น

ประเด็นที่สอง ตนเองได้บอกไปแล้วว่า เรายอมรับในพหุวัฒนธรรม ซึ่งเขาก็ต้องยอมรับในสิ่งนี้ด้วย ประเทศไทย มีจุดแข็งที่อยู่ร่วมกันได้ทุกศาสนา เมื่อก่อน ในพื้นที่ภาคใต้ชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมก็อยู่ร่วมกัน เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการแยกรัฐ คิดว่า ต้องอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม

ประเด็นที่สาม ยินดีที่จะเจรจาพูดคุย ภายใต้ กฎหมายรัฐธรรมนูญไทย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐเป็น รัฐเดียวแบ่งแยกไม่ได้ ดังนั้น การจะเจรจาเพื่อเป็นรัฐปาตานี หรือรัฐอะไรก็ตาม เราไม่พร้อม เจรจาด้วย แต่ถ้า จะคุยในเรื่องการอยู่ร่วมกันหรือความร่วมมือ อันนี้ เรายอมรับได้ เรายอมรับ อยู่แล้วว่าการ ที่จะให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ มีส่วนร่วม ในการปกครองตัวเอง เรื่องนี้ มาคุยกันจะเอารูปไหนก็ได้ ถ้า ยึดหลักตามที่ตนบอกไป ไม่แบ่งแยก เป็นรัฐอิสระ ไม่ดำเนินการ ภายนอกรัฐธรรมนูญไทยที่มีอยู่ ก็มาคุยกันว่าจะเอารูปแบบไหน

ตนได้ให้เงื่อนไขกับผู้อำนวยการสะดวกไปแล้ว ซึ่งจริง ๆ ที่ทุกคนเห็น ไม่ได้ หมายความว่าเราไม่ได้ทำอะไร เราทำไป หลายส่วน และเมื่อวานตอนโอกาสเจอกับแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ได้กำชับ ไปว่า ขณะนี้ ต้องยุติความรุนแรงให้ได้ก่อน เรื่องอื่น ๆ ถึงจะสามารถดำเนินการได้ ถ้าเรื่องนี้ ยังไม่ได้ไม่ต้องมาพูดอะไร และตนเห็นด้วยกับนายสุนัย ผาสุข และสิ่งที่พูดมาควรจะนำไปขบคิดกัน อย่าใช้ การเมืองให้พูดกันตรง ๆ อย่างจริงใจ และหาก อยากแก้ปัญหาให้นำความจริงมาพูดกัน ผู้สนับสนุน หรือฝ่ายต่าง ๆ ต้องเข้าใจ ความเป็นจริง วันนี้ ต้องตั้งคำถามให้ถูกจุด ว่า กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงทำอะไรกันอยู่ ไม่ใช่ อยู่ ๆ มาโจมตีรัฐอย่างเดียว พร้อมยืนยัน ว่า รัฐไม่ได้อยู่นิ่ง และมีการ เตรียมความพร้อม แต่ต้อง อยู่ภายใต้สิ่งที่รัฐสามารถดำเนินการได้

ส่วนกรณีถอยกำลังทหารจากพื้นที่รอบปราสาทตาเมือนธม จ.สุรินทร์ นั้นเป็นเพียงการปฏิบัติตามข้อตกลง MOU 43 และไม่มีการเสียดินแดนตามที่มีการกล่าวอ้าง ยืนยันไม่มีการเจรจาลับ และไม่ได้มีเจตนาให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ นายภูมิธรรม ระบุว่าการหารือเกิดขึ้นในที่ประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา (GBC) โดยมีตัวแทนระดับสูงจากทั้งสองฝ่ายร่วมรับฟังอย่างเปิดเผย ฝ่ายไทยนำโดยตนเอง ร่วมกับปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

นอกจากนี้ ยังมีการหารือแบบ 1 ต่อ 1 กับรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อยืนยันแนวปฏิบัติตาม MOU 43 โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่หลักแต่อย่างใด โดยเฉพาะในจุดที่ทหารไทยดูแลอยู่เดิม เช่น บริเวณปราสาทตาเมือนธม ซึ่งการ"ถอยทหาร"หมายถึงการถอยจากจุดที่รุกล้ำเพิ่มเติม ไม่ใช่ถอนกำลังทั้งหมด และยังคงยืนยันอธิปไตยในพื้นที่เดิม ทหารยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยมีแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่อย่างใกล้ชิด

พร้อมกันนี้ นายภูมิธรรม เรียกร้องให้หยุดนำเสนอข่าวที่บิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะอาจกระทบความเชื่อมั่นในรัฐบาลโดยไม่จำเป็น ยืนยันว่ากองทัพยังยึดมั่นในการปกป้องแผ่นดิน และไม่มีใครขายชาติอย่างที่มีบางฝ่ายพยายามกล่าวหา


 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ