หน้าแรก > อาชญากรรม

ปฏิบัติการ CIB Nominee sweep ep.3 ทลายนอมินีจีน ฮุบที่ดินระยอง สร้างคอนโดหรู 2 พันล้าน

วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เวลา 12:14 น.


กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ร่วมกันตรวจค้น เครือข่ายบริษัทนอมินี ในเขตพื้นที่จังหวัดระยอง และชลบุรี รวม 3 จุด ดำเนินคดี นิติบุคคล จำนวน 4 ราย และ บุคคล จำนวน 11 ราย ตรวจยึด1.เอกสารทะเบียนบริษัท 10 ชุด/สมุดบัญชีธนาคาร 48 เล่ม /โน้ตบุ๊ก 2 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง/โฉนดที่ดิน 7 ฉบับ เนื้อที่ รวม 72 ไร่/สัญญาซื้อขายที่ดิน 1 ฉบับ /ตราประทับบริษัท 6 ชิ้น/Token ธนาคาร 7 ชิ้น​ แจ้งความผิด
1.พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542
2.พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497
3.พระราชกำหนดการบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560

โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) “การป้องกันและปราบปรามปัญหาการเปิดบัญชีม้าของนิติบุคคล และการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (NOMINEE)” บูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำงานร่วมกัน เพื่อป้องกันปราบปราม แก้ไขปัญหานอมินีต่างด้าว ตลอดจนกำกับดูแลและตรวจสอบนิติบุคคลให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย

ต่อมากองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจสอบพบกลุ่มนิติบุคคลไทย จำนวน 3 ราย ถือครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี มีพฤติกรรมนำบุคคลสัญชาติไทยมาเป็นตัวแทนอำพราง หรือที่เรียกว่า “นอมินี”เพื่อหลบเลี่ยงข้อกฎหมาย และการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐ กองกำกับการ 4 ​กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้ทำการสืบสวนสอบสวน กลุ่มนิติบุคคลทั้ง 3 รายดังกล่าว พบว่ากลุ่มบริษัทดังกล่าวเริ่มจดทะเบียนในช่วงปี2566-2567 โดยมีวัตถุประสงค์ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และดำเนินกิจการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่ซับซ้อน มีการใช้พนักงานคนไทย เช่น พนักงานฝ่ายขาย คนขับรถตักดิน มาถือหุ้นและเป็นกรรมการ โดยไม่ได้ลงทุนจริงและไม่มีบทบาทในการบริหารแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้ว บริษัทได้กว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง และ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำนวน 7 แปลง รวมเนื้อที่กว่า 72 ไร่ เพื่อนำมาสร้างเป็นที่ตั้งบริษัทและโครงการที่พักอาศัย ในลักษณะอาคารชุด 8 ชั้น จำนวน 10 อาคาร เป็นห้องพักอาศัยกว่า 1,821 ห้อง รวมมูลค่าโครงการกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างก่อสร้าง

ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปอศ. ได้นำหมายค้นเข้าทำการตรวจค้นบริษัทพร้อมกัน 3 จุด ในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี โดยเข้าทำการตรวจยึดพยานเอกสารและพยานวัตถุที่สำคัญ เช่น โฉนดที่ดินจำนวน 7 แปลง มูลค่า 36 ล้านบาท สมุดบัญชีธนาคารทั้งไทยและจีน จำนวน 48 เล่ม ยอดเงิน รวม 72ล้านบาท ตราประทับบริษัท จำนวน 6 ชิ้น และ สอบสวนปากคำพยานจำนวน 14 ปาก ประกอบด้วย กรรมบริษัท พนักงานคนไทย และ แรงงานชาวจีน โดย พยานที่เป็นพนักงานของบริษัทให้การยืนยันว่า บริษัทถูกบริหารโดยบุคคลสัญชาติจีน และมีการนำชื่อพนักงานคนไทยไปเป็นผู้ถือหุ้นแทนคนจีน

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า กลุ่มบริษัทดังกล่าวมีการส่งตัวแทนชาวจีนเข้ามาควบคุมสั่งการทั้งในด้านการบริหารและการดำเนินงานก่อสร้างของบริษัท มีการดำเนินกิจการและครอบงำจากนายทุนชาวจีนแบบครบวงจร โดยตั้งบริษัทผลิตคอนกรีตเอง เพื่อนำมาใช้ในการก่อสร้างโครงการที่พักอาศัย โดยใช้วิศวกรคุมงาน ผู้ออกแบบ ช่างวางระบบไฟฟ้า ประปา และแรงงานกรรมกรเป็นชาวจีน และจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัทพบว่า มีการรับโอนเงินจากบริษัทนายทุนจีน ซึ่งจดทะเบียนอยู่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยพบเงินหมุนเวียนในบัญชีของบริษัทกว่า 500 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวมีนายทุนจีนเป็นเจ้าของที่แท้จริง

จากการรวบรวมพยานหลักฐาน กก.4 บก.ปอศ. จึงได้ดำเนินคดี กับ นิติบุคคล จำนวน 4 ราย และบุคคลทั้งสัญชาติไทยและจีน จำนวน 5 ราย ในความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และ แรงงานชาวจีน จำนวน 6 ราย ในความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารการจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ในส่วนของที่ดินที่บริษัทถือครองกรรมสิทธิ์อยู่นั้น จะได้ดำเนินมาตรการบังคับให้จำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ต่อไป

 

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ