วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เวลา 00:00
นายกฯ ย้ำ รัฐบาลพร้อมเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจ เดินหน้านโยบายระยะสั้น-กลาง-ยาว เน้นลงทุนแบบพุ่งเป้า ต่อยอดจุดแข็ง เพิ่มรายได้ให้ประเทศ
(30 เม.ย.68) เวลา 17.30 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ : Mission Thailand” ในงาน TNN DINNER TALK ซึ่งนำเสนอวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลและภาคเอกชน ถึงทิศทางและนโยบายที่จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ภาคธุรกิจและการลงทุนสามารถนำไปปรับแผนและต่อยอด
นายกฯ กล่าวถึง การเรียกเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกา ที่หลายประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบ รัฐบาลจะใช้ความสัมพันธ์ที่มีอยู่แล้วเพื่อสร้าง connection และการเจรจา ส่วนกรณี บริษัทจัดอันดับเครดิต มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's) ปรับลดมุมมองประเทศไทย เป็น Negative จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable) นั้น ไม่ใช่การให้คะแนน แต่เป็นมุมมองของมูดีส์ฯ ที่มองว่าหากเกิดปัญหาและเศรษฐกิจแบบนี้ในประเทศไทย จาก Stable ก็จะให้มาเป็น Negative คือ ศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจลดน้อยลง แต่ไม่ได้แปลว่าประเทศไทยขาดความเชื่อมั่นแล้ว โดยมูดีส์ฯ มองถึงอัตราการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลกก็ถูกมีมุมมองที่ลดลง หรือ Negative เช่นกัน
รัฐบาล ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด สิ่งแรกที่ทำ คือ ไม่ทำให้เขากังวลในสิ่งที่เขากังวลอยู่ และเตรียมการทางเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นเรื่องกำแพงภาษีดังกล่าว รวมทั้งดำเนินการเรื่องอนาคตในการหาเงินเข้าประเทศ ต้องทำให้มั่นใจว่า GDP เติบโตขึ้น 3-4% อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปีที่ผ่านมามีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐก็ได้มีการเร่งในเรื่องของการลงทุนภาครัฐมากถึง 72% มากกว่าเดิมที่ผ่านมา 10 ปี ทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศมากขึ้น
นอกจากนั้น รัฐบาลยังสนับสนุนเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมถึงการพัฒนาคนรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลดำเนินการ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมาตรการระยะสั้น เช่น การปลดล็อกหนี้สินรถกระบะ ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ดัน GDP ในไตรมาสสุดท้ายให้สูงขึ้น กระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย สร้างโอกาสการทำมาหากิน ต่อลมหายใจให้กับธุรกิจรายเล็กให้มีพลังต่อไปได้
ระยะกลางและระยะยาว เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแบบพุ่งเป้า เชื่อมไทยเข้าสู่โลก ผ่านการสร้าง Connectivity ทั้งในและต่างประเทศ เร่งผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม อำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน พัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยี ระบบนิเวศทางการเงิน ตลอดจนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็น Input สำคัญของการพัฒนาประเทศ
นายกฯ เชื่อมั่นว่าโครงสร้างเหล่านี้จะสนับสนุนการค้าและการลงทุน ในภาคการผลิตที่เป็นจุดแข็งของประเทศ ทั้งด้านเกษตร-อาหาร และการบริการ ภาคการท่องเที่ยว การบริการทางการแพทย์ ซึ่งยังคงต้องพัฒนาวิจัยอย่างต่อเนื่องให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและแข่งขันกับต่างประเทศได้
อีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด คืออุตสาหกรรมยานยนต์ นายกฯ และรัฐบาลให้คำมั่นว่า จะยังคงสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าตอนนี้อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน ได้เร่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตรถยนต์ Hybrid และรถยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงขยายไลน์ผลิตไปสู่ชิ้นส่วนอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วย
21 พฤษภาคม 2568
21 พฤษภาคม 2568
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา
อ่านเพิ่มเติมยอมรับ