หน้าแรก > สังคม

รอชม! "วันวสันตวิษุวัต" กลางวัน เท่ากับ กลางคืน 20 มีนาคมนี้

วันที่ 17 มีนาคม. 2568 เวลา 14:33 น.


17 มีนาคม 2568 เพจ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT โพสต์ข้อมูลระบุ 20 มีนาคม 2568 เป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวัน และกลางคืนเท่ากัน ซึ่งเรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox)

คำว่า วิษุวัต (Equinox) เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง จุดราตรีเสมอภาค จุดที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ส่งผลให้เป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวัน และกลางคืนยาวนานเท่ากัน

สำหรับประเทศไทย ในวันนั้นดวงอาทิตย์จะขึ้น เวลาประมาณ 06:22 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ และประเทศทางซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

ทั้งนี้ การนิยามเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและตกของปรากฏการณ์ดังกล่าว จะนับเมื่อเราเห็น "ขอบบน" ของดวงอาทิตย์สัมผัสกับเส้นขอบฟ้า กล่าวคือ เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น จะนับเวลาเมื่อขอบบนของดวงอาทิตย์สัมผัสกับขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และเมื่อดวงอาทิตย์ตก จะนับเวลาเมื่อขอบบนของดวงอาทิตย์สัมผัสกับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก (หรือเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าหมดทั้งดวงนั่นเอง) อาจทำให้ดูเหมือนเวลาการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ในวันดังกล่าวไม่เท่ากัน แต่ไม่ได้หมายความว่าวันดังกล่าวมีช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวนานไม่เท่ากัน ซึ่งหากนับจากช่วงเวลาที่จุดกึ่งกลางดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านขอบฟ้า วันดังกล่าวนับว่าเป็นวันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนาน 12 ชั่วโมงเท่ากันพอดี

ฤดูกาลบนโลกนั้น เกิดจากการเอียงของแกนโลกที่ทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวัน และกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนเวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า แตกต่างกับฤดูหนาวเวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว

สำหรับปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ คือ "วันครีษมายัน" (Summer Solstice) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2568 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และ ตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ทำให้มีช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี ส่งผลให้ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูร้อน และ ประเทศทางซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ