หน้าแรก > สังคม

รศ.ดร.เสรี แนะแนวทาง ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ก่อนจะคิดย้ายเมืองหลวง

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 11:21 น.


วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568  รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC และผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ความเห็นย้ายเมืองหลวงหนีน้ำท่วมไปโคราชมีอะไรที่ต้องคิดบ้าง ? โดยมีงานวิจัยต่างประเทศชี้ถึงความเสี่ยงน้ำท่วมกรุงเทพฯอย่างถาวรในอนาคต ประกอบกับความเสียหายจากเป็นหมื่นล้านต่อปี จนถึงหลายแสนล้านบาทต่อปี โดยใช้ข้อมูลการคาดการณ์ตามรายงานฉบับที่ 5 ของ IPCC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557

รศ.ดร.เสรี บอกด้วยว่า ปัจจุบันหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้สถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น จากรายงานฉบับที่  6 ล่าสุดโดย IPCC ในปี พ.ศ. 2564 ในฐานะผู้ประเมิน และเขียนรายงานฉบับนี้ จึงได้ทำงานวิจัย และใช้ฉากทัศน์กรณีเลวร้ายที่สุด พบว่า  ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้เราสูญเสียแผ่นดินมากขึ้นอีก 4, 5.6, 6, 12 กิโลเมตร ภายในปี พ.ศ. 2573, 2593, 2613, 2643 ตามลำดับ จากปัจจุบันที่พื้นที่ริมทะเลก็จมหายไปแล้ว 600 -1,000 เมตร จากแนวหลักเขตที่ดินโดยยังไม่มีแผนรองรับใด ๆ
แล้วเราควรทำอย่างไร ? รศ.ดร. เสรี บอกว่า มี 5 แนวทาง ดังนี้ 
1) ไม่ทำอะไร
2) คันป้องกันริมชายฝั่งทะเล 
3) คันดินสีเขียว       
4) เขื่อนกั้นทะเลพร้อมประตูน้ำ      
5) ย้ายเมืองหลวง  

ซึ่งต้องพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย โดยคำนึงประโยชน์สูงสุดของประเทศ ถ้าไม่ทำอะไรก็คงต้องย้ายเมืองหลวง เช่นเดียวกับการย้ายกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ประกอบกับการดำเนินการตามแนวทางต่าง ๆ มีผู้มีส่วนได้เสียมากมาย จึงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี (ประสบการณ์หลายเมืองในต่างประเทศ ใช้เวลาถกเถียง และทำความเข้าใจกัน) สำหรับประเทศไทยอาจจะนานกว่านั้น ซึ่งเราก็คงเริ่มจมน้ำกันแล้ว)

รศ.ดร. เสรี ระบุว่า ความเห็นส่วนตัวแล้วไม่อยากให้ย้าย ด้วยเหตุผลคือ กรุงเทพฯ มีชีวิต มีวัฒนธรรม มีเอกลักษณ์ มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และมีอีกหลาย ๆ อย่าง ที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ และที่สำคัญเราสามารถป้องกัน และลดผลกระทบได้ แต่ถ้ารัฐบาลมีแนวคิดที่จะย้าย แล้วเราจะย้ายไปที่ไหน (ถ้าจะย้ายจริง) หรือมีแนวคิดที่จะย้ายเฉพาะศูนย์ราชการ เพื่อลดความแออัดของกรุงเทพฯ โดยการเดินทางระหว่าเมืองหลวงใหม่กับกรุงเทพฯ ควรใช้เวลาไม่มาก  "เมืองเป้าหมายต้องเป็นเมืองที่ Climate resilience หรือเป็นเมืองที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผมประเมิน และวิเคราะห์ไว้แล้วควรจะเป็นเมืองใดที่เหมาะสมที่สุด และมีความเสี่ยงน้อยที่สุดจากภัยคุกคามด้านสภาพอากาศ (น้ำท่วม น้ำแล้ง คลื่นความร้อน มลพิษ แผ่นดินไหว) แต่ยังไม่ขอเปิดเผย เพราะอาจจะกระทบกับแนวนโยบายด้านที่ดิน" รศ.ดร. เสรี กล่าว

 

 

 

ข่าวยอดนิยม


เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา

อ่านเพิ่มเติมยอมรับ