วันที่ 28 สิงหาคม 2567 เวลา 15:02 น.
วันที่ 28 ส.ค. ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) โดยมีวาระการพิจารณาคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2566 โดย น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม ในฐานะรองประธาน กวช. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ปี 2566 จำนวน 12 คน ดังนี้
สาขาทัศนศิลป์ 4 คน ได้แก่ 1. ศ.เกียรติคุณกัญญา เจริญศุภกุล (สื่อผสม) 2. นางวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล (สถาปัตยกรรมภายใน) 3. ร้อยตรีทวี บูรณเขตต์ (ประณีตศิลป์-ช่างปั้น หล่อ) และ 4. นายสุดสาคร ชายเสม (ประณีตศิลป์-เครื่องประกอบฉาก)
สาขาวรรณศิลป์ จำนวน 2 คน ได้แก่ 1. นายประสาทพร ภูสุศิลป์ธร และ 2. นายวศิน อินทสระ
สาขาศิลปะการแสดง จำนวน 6 คน ได้แก่ 1. นายสมบัติ แก้วสุจริต (นาฏศิลป์ไทย - โขน ละคร) 2. นายไชยยะ ทางมีศรี (ดนตรีไทย) 3. นายพิเชษฐ์ เอี่ยมชาวนา (การแสดงพื้นบ้าน - เพลงฉ่อย) 4. จ่าโทหญิง ปรียนันท์ สุนทรจามร (นักร้องเพลงไทยสากล - ลูกทุ่ง) 5. นายสุธีศักดิ์ ภักดีเทวา (นาฏศิลป์สากล) 6. รศ.บรรจง โกศัลวัฒน์ (ภาพยนตร์)
น.ส.สุดาวรรณ กล่าวต่อว่า ผู้ได้รับการประกาศเป็นศิลปินแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2528- 2565 มีจำนวน 355 คน และในปี พ.ศ. 2566 จำนวน 12 คน รวมทั้งสิ้น 367 คน โดยเสียชีวิตไปแล้ว 183 คน และยังมีชีวิตอยู่รวม 184คน สำหรับผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับสวัสดิการประกอบด้วย ค่าตอบแทนรายเดือนๆ ละ 25,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ค่ารักษาพยาบาล วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ต่อปี เงินช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัยเท่าที่เสียหายจริง รายละไม่เกิน 50,000 บาท ต่อครั้ง ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง และในกรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินช่วยเหลือบำเพ็ญกุศลศพ รายละ 20,000 บาท เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ ทั้ง 12 คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่ และเข็มเชิดชูเกียรติ ในวัน เวลา ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการจัดโครงการและกิจกรรม เพื่อถ่ายทอดผลงานของศิลปินแห่งชาติให้หลากหลายขึ้น รวมถึงการจัดเก็บองค์ความรู้ของศิลปินแห่งชาติที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ในการสืบสานงานที่เป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติ