หน้าแรก > ต่างประเทศ

นาซาเตรียมศึกษาการปล่อยความร้อนแถบ ‘ขั้วโลก’

วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เวลา 15:26 น.


ลอนแอนเจลิส, 16 พ.ค. ซินหัว รายงานว่า — เมื่อวันพุธ (15 พ.ค.) ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่นขององค์การนาซา (NASA) เปิดเผยแผนการดำเนินภารกิจใหม่ในเดือนพฤษภาคม เพื่อศึกษาการสูญเสียความร้อนบริเวณขั้วโลกของโลก และสร้างข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงานระบุว่าภารกิจ “การทดลองพลังงานการแผ่รังสีขั้วโลกในคลื่นฟาร์-อินฟราเรด” (Polar Radiant Energy in the Far-InfraRed Experiment) หรือพรีไฟร์ (PREFIRE) จะศึกษาพื้นที่อันห่างไกลที่สุดสองแห่งของโลก ได้แก่ อาร์กติกและแอนตาร์กติก

ดาวเทียมตรวจสอบสภาพภูมิอากาศ ขนาดเท่ากล่องรองเท้า จำนวน 2 ดวง จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเพื่อตรวจวัดปริมาณความร้อนที่โลกปล่อยจากบริเวณขั้วโลกทั้งสองแห่งสู่อวกาศ โดยดาวเทียมทรงลูกบาศก์หรือคูบแซต (CubeSat) แต่ละดวงจะใช้เครื่องมือสเปกโตรมิเตอร์เชิงแสงรังสีอินฟราเรดอุณหภูมิสูงเพื่อวัดความร้อนในรูปของพลังงานฟาร์ อินฟราเรด ซึ่งแผ่รังสีจากพื้นผิวและชั้นบรรยากาศของโลกสู่อวกาศ

ข้อมูลจากภารกิจนี้จะช่วยปรับปรุงความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับปรากฏการณ์เรือนกระจกบริเวณขั้วโลก โดยเฉพาะความสามารถของไอน้ำ เมฆ และองค์ประกอบอื่นๆ ของชั้นบรรยากาศโลกในการดักจับความร้อนและป้องกันไม่ให้แผ่รังสีสู่อวกาศ

คณะนักวิจัยจะใช้ข้อมูลนี้มาอัปเดตแบบจำลองสภาพภูมิอากาศและน้ำแข็ง ซึ่งจะนำสู่การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล สภาพอากาศ รวมถึงหิมะและน้ำแข็งในสภาวะโลกร้อนได้ดียิ่งขึ้น

ข่าวยอดนิยม