หน้าแรก > ข่าวจราจร

กรมทางหลวงชนบท สร้างสะพานข้ามลำน้ำมูล เชื่อม จ.บุรีรัมย์ - จ.สุรินทร์ เร็วกว่าแผน บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งสินค้าการเกษตรช่วยร่นระยะทางจากเดิมกว่า 27 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้สัญจรได้ในปี 2567 นี้

วันที่ 13 พฤษภาคม 2024 เวลา 11:53 น.


กรมทางหลวงชนบท สร้างสะพานข้ามลำน้ำมูล เชื่อม จ.บุรีรัมย์ - จ.สุรินทร์ เร็วกว่าแผน บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งสินค้าการเกษตรช่วยร่นระยะทางจากเดิมกว่า 27 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้สัญจรได้ในปี 2567 นี้

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำมูล ตำบลสะแก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 83 เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างผิวจราจรบนสะพาน โดยคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดใช้งานได้ในปี 2567 นี้ ซึ่งสะพานแห่งนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมโยงระหว่างบ้านโนนค้อ ตำบลสะแก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ กับบ้านเบ็ง ตำบลศรีณรงค์ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ได้อย่างสะดวกรวดเร็วปลอดภัย ลดเวลาลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการขนส่งพืชผลทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

เนื่องจากปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนในการเดินทาง ซึ่งต้องใช้สะพานที่อยู่ห่างออกไป รวมระยะทางที่ต้องเดินทางอ้อมเป็นระยะทางมากถึง 27.7 กิโลเมตร ประชาชนบ้านโนนค้อจึงได้ขอรับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำมูล อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้ ทช.จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามลำน้ำมูล ตำบลสะแก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 125.1 ล้านบาท โดยก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ผิวจราจรกว้าง 9 เมตร จำนวน 2 แห่ง คือ สะพานข้ามลำน้ำมูล ความยาว 160 เมตร และสะพานข้ามกุดครุน้อย ความยาว 80 เมตร พร้อมทั้งก่อสร้างถนนต่อเชื่อมเป็นผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีตความกว้าง 6 เมตร ความยาวรวมประมาณ 6.5 กิโลเมตร มีการติดตั้งเครื่องหมายจราจร สิ่งอำนวยความปลอดภัยตามแนวสายทางเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน

อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มการก่อสร้าง และระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ทช. ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน และลงนามบันทึกความร่วมมือ 3 ฝ่าย (MOU) ระหว่าง ทช. ผู้รับจ้าง และผู้แทนประชาชน โดยมีการนำเสนอความเป็นมา ลักษณะของโครงการ ขั้นตอนการดำเนินงาน และรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมทั้งได้มีการรับฟังข้อเสนอแนะ ตอบข้อซักถาม สอบถามความคิดเห็นจากผู้นำชุมชน ประชาชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อให้การดำเนินโครงการสอดคล้องกับความต้องการ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในพื้นที่ให้มากที่สุด ซึ่ง ทช. จะดำเนินการจัดประชุมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ครั้งที่ 3 (ครั้งสุดท้าย) เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการต่อไป

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม