หน้าแรก > สังคม

"สุริยะ" กดปุ่มเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เปิดปี 71

วันที่ 26 เมษายน 2024 เวลา 21:41 น.


วันที่ 26 เมษายน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้า สำหรับงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ และ สัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้าโดยมี นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) นายสราวุธ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) นายเศรณี ชาญวีรกูล ที่ปรึกษาบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ในนามกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล ร่วมให้การต้อนรับ ณ สถานที่ก่อสร้างอุโมงค์ ในพื้นที่กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ถนนทหาร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบายในการขับเคลื่อนและติดตามโครงการสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าที่ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อช่วยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและเศรษฐกิจของประเทศ โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็นหนึ่งในโครงการตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญ และมอบหมายให้รฟม. กำกับและควบคุมการดำเนินงานโครงการฯ ให้สำเร็จตามแผน ด้วยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์และเทคโนโลยีการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ และด้วยมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด

นายสุริยะ กล่าวว่า การเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและก้าวหน้าของโครงการอย่างเป็นรูปธรรม โดยทางบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) มีแผนการดูแลความปลอดภัยที่ครบถ้วน และมีวิศวกรควบคุมงานทุกขั้นตอน ประกอบกับ รฟม. ได้มีการกำกับดูแลงานก่อสร้างอย่างใกล้ชิด จึงสร้างความเชื่อมั่นได้ว่างานก่อสร้างจะเป็นไปด้วยมาตรฐานความปลอดภัย และเป็นความร่วมมือที่ดีระหว่างภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้โครงการนี้จะช่วยเติมเต็มโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเชื่อมโยงการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้ รฟม. คุมเข้มการดำเนินงานในทุกขั้นตอนการก่อสร้างของผู้รับสัมปทาน/ผู้รับจ้าง ให้เป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยสูงสุด ควบคู่กับการดำเนินงานตามมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและฝุ่นละออง PM 2.5 ในระหว่างการก่อสร้างอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง รวมถึงให้มีการบรรเทาผลกระทบจากการเบี่ยงจราจรในระหว่างการก่อสร้าง โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนให้ได้มากที่สุด

นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRTสายสีม่วง) ที่สถานีเตาปูน รองรับการเดินทางของประชาชนจากจังหวัดนนทบุรี เข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯชั้นในและสถานที่สำคัญบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ไปยังพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ รวมระยะทาง 23.63 กิโลเมตร แบ่งเป็นโครงสร้างใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร โครงสร้างยกระดับ 9.34 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี

นายวิทยากล่าวว่า รฟม. ได้เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ปัจจุบันมีความก้าวหน้างานโยธาในภาพรวม ร้อยละ 30.45 เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.06 คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571 สำหรับงานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน จะใช้หัวเจาะอุโมงค์รวมทั้งสิ้น 7 หัว แบ่งเป็นหัวเจาะของงานสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 (ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า) จำนวน 3 หัว หัวเจาะของงานสัญญาที่ 3 (ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธ) จำนวน 2 หัว และหัวเจาะของงานสัญญาที่ 4 (ช่วงสะพานพุทธ – ดาวคะนอง) จำนวน 2 หัว

นายวิทยากล่าวว่า ในส่วนของงานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ซึ่งดำเนินการโดย กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน – หอสมุดแห่งชาติ มีความก้าวหน้าอยู่ที่ร้อยละ 40.68 และสัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ – ผ่านฟ้า มีความก้าวหน้าอยู่ที่ร้อยละ 37.28 ปัจจุบัน กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล มีความพร้อมในการเดินเครื่องหัวเจาะเพื่อก่อสร้างอุโมงค์คู่แล้ว ในเส้นทางตั้งแต่ Cut & Cover ซึ่งเริ่มต้นในพื้นที่กรมสรรพาวุธทหารบก ลอดผ่านพื้นที่กองพลทหารปืนใหญ่ฯ สถานีรัฐสภา สถานีศรีย่าน สถานีวชิรพยาบาล สถานีหอสมุดแห่งชาติ สถานีบางขุนพรหม สิ้นสุดบริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

“วันนี้ (26 เมษายน 2567) หัวเจาะตัวที่ 1 จะเริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์สายใต้จาก Cut & Cover ไปยังสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระยะทาง 5.89 กิโลเมตร คาดว่าใช้เวลา 20 เดือน จากนั้นในเดือนพฤษภาคม 2567 หัวเจาะตัวที่ 2 จะเริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ จาก Cut & Cover ไปยังบริเวณสถานีหอสมุดแห่งชาติ ระยะทาง 3.49 กิโลเมตร คาดว่าใช้เวลาประมาณ 12 เดือน และในเดือนตุลาคม 2567 หัวเจาะตัวที่ 3 จะเริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ (Northbound) ต่อจากสถานีหอสมุดแห่งชาติ ไปยังบริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระยะทาง 2.40 กิโลเมตร คาดว่าใช้เวลาประมาณ 7 เดือน"

นายวิทยากล่าวว่า ทั้งนี้ โครงการ ได้นำเทคโนโลยีหัวเจาะอุโมงค์สมดุลแรงดันดินที่มีประสิทธิภาพในการขุดเจาะใต้ดินที่มีสภาพเป็นดินเหนียวและทราย ซึ่งมีแรงดันน้ำใต้ดินในชั้นทรายสูง พร้อมด้วยอุปกรณ์สนับสนุนอันประกอบด้วย ท่อลำเลียงดินออก อุปกรณ์สำหรับควบคุมทิศทาง อุปกรณ์ไฮโดรลิกส์เพื่อการลำเลียงวัสดุก่อสร้างเข้า – ออก ในระหว่างการขุดเจาะและการก่อสร้างอุโมงค์ และอุปกรณ์ระบายอากาศ มาใช้ในงานขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2

โดยหัวเจาะอุโมงค์ที่นำมาใช้นี้มีขนาดความยาว 9.6 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.58 เมตร น้ำหนัก 370 ตัน สามารถขุดเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 5.70 เมตร ในระดับความลึก 15 – 35 เมตร ด้วยสมรรถภาพการขุดเจาะเฉลี่ยวันละ 10 – 15 เมตร หรือเดือนละ 350 เมตร

นอกจากนี้ รฟม. ยังได้คำนึงถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยให้ออกแบบสถาปัตยกรรมสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินให้มีความกลมกลืนกับพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ อาทิ สถานีรัฐสภา สถานีศรีย่าน สถานีวชิรพยาบาล สถานีหอสมุดแห่งชาติ สถานีบางขุนพรหม สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฯลฯ เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กที่โดดเด่นและเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ใช้บริการต่อไป

 

 

 

 

 

 


 

ข่าวยอดนิยม