วันที่ 6 มีนาคม. 2567 เวลา 12:26 น.
6 มีนาคม 2567 จากที่มีภาพและข้อมูลปรากฏและแชร์ต่อบนสื่อสังคมออนไลน์ กรณีครูผู้สอนรายหนึ่งออกมาสะท้อนความรู้สึกส่วนตัวในมุมของครูผู้สอน ว่ามีเด็กนักเรียนที่ไม่ไฝ่รู้ ไฝ่เรียน ไม่รับผิดชอบ ไม่ตั้งใจทำงานส่งครู โดยอ้างว่าอย่างไรก็ผ่านอยู่แล้ว ซึ่งครูรายนี้ได้ออกมาสนับสนุนให้โรงเรียนประกาศนโยบายเรียนซ้ำชั้น นั้น ล่าสุด นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ.ได้รับทราบและมอบหมายให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่เกิดขึ้น พบว่าครูรายดังกล่าวได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวจริง ซึ่งทาง สพฐ.มองว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่สามารถกระทำได้ แต่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการศึกษาที่ถูกต้อง ซึ่งจากกรณีตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น พฤติกรรมการตอบใบงานของเด็ก อาจวิเคราะห์ได้หลายมุมมอง เช่น ความรับผิดชอบของนักเรียน หรือไม่ชอบวิชานี้ ส่วนวิชาอื่นเด็กแสดงออกเหมือนกันหรือไม่ หรือขาดวินัย หรือนักเรียนกำลังมีปัญหา ทั้งปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัวที่ต้องมุ่งความสนใจไปที่เรื่องอื่น แต่อยากส่งงานให้เสร็จแบบรีบร้อน หรือติดเกม หรือปัญหาที่โรงเรียนที่ส่งผลกระทบต่อผู้เรียนโดยตรง ทำให้ขาดแรงจูงใจ ขาดสมาธิในการเรียนรู้ เป็นต้น
"สำหรับประเด็นที่ครูต้องการให้โรงเรียนประกาศนโยบายเรียนซ้ำชั้นนั้น โดยข้อเท็จจริงแล้วเป็นอำนาจของสถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาอาจพิจารณาให้นักเรียนซ้ำชั้นได้ หากพบปัญหาที่เกิดกับนักเรียนในกรณีไม่ผ่านรายวิชาจำนวนมากและมีแนวโน้มว่าจะเป็นปัญหาต่อการเรียนในระดับที่สูงขึ้น หรือไม่บรรลุผลการเรียนรู้ใดๆ และครูรวมทั้งผู้บริหารร่วมกันหาแนวทางที่เหมาะสมกับเด็ก เพราะงานที่ให้เด็กทำอาจไม่ตอบโจทย์ความถนัดของเด็ก แต่วิธีอื่น อาจได้เด็กที่มีคุณภาพที่ตัวตนซึ่งต่างวิธีกันแต่คุณภาพติดที่ตัวเด็กเหมือนกัน ถือเป็นความท้าทายของผู้อำนวยการโรงเรียนที่เป็นผู้นำทางวิชาการที่ควรร่วมสร้างเด็กคุณภาพด้วยวิธีการที่หลากหลายร่วมกับคณะครู ส่วนการซ้ำชั้นสามารถดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการและให้สถานศึกษาแจ้งผู้ปกครองและนักเรียนได้ทราบเหตุผลของการเรียนซ้ำชั้น โดยให้คำนึงถึงวุฒิภาวะและความรู้ความสามารถของนักเรียนเป็นสำคัญ รวมทั้งพูดคุยกับผู้ปกครองในการหาทางออกร่วมกัน ที่สำคัญคือ ต้องให้รู้จริงๆว่าเด็กไม่สามารถข้ามชั้นได้จริง และครูได้เปลี่ยนวิธีการประเมินผลอย่างหลากหลายแล้วจริง โดยมีทีม PLC แล้ว"
"ทั้งนี้ สพฐ. ได้กำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสถานศึกษาทุกแห่ง เร่งทำความเข้าใจ ให้ได้รับรู้รับทราบข้อเท็จจริง ให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องของการวัดและประเมินผลการศึกษา และดำเนินการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียนและผู้สอน เป็นไปตามนโยบาย เรียนดี มีความสุข ของกระทรวงศึกษาธิการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม"
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา
อ่านเพิ่มเติมยอมรับ