หน้าแรก > ภูมิภาค

"วาฬโอมูระเผือก" อวดโฉม 2 วันติด พื้นที่อุทยานเเห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

วันที่ 3 มีนาคม. 2024 เวลา 02:07 น.


"วาฬโอมูระเผือก" อวดโฉม 2 วันติด พื้นที่อุทยานเเห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

วันที่ 1 มีนาคม 2567 เจ้าหน้าที่อุทยานเเห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ชุดสายตรวจชุด 1 ได้ออกลาดตระเวน Smart Patrol รอบเกาะสุรินทร์เหนือ ขณะลาดตระเวนได้พบวาฬโอมูระจำนวน 3 ตัว โดยเป็นวาฬโอมูระตัวสีดำ 2 ตัว เเละวาฬโอมูระเผือก 1 ตัว ซึ่งวาฬโอมูระเผือกจัดเป็นสัตว์ทะเลหายากที่หาพบได้ยาก และเมื่อเวลา 15.41 น. วันที่ 2 มี.ค.67 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ พบวาฬโอมูระเผือก ที่อ่าวไทรเอน

"วาฬโอมูระ" เป็นวาฬสายพันธุ์หายากที่มีความใกล้เคียงกับวาฬบรูด้า เรียกว่าเป็นญาติกับบรูด้า จึงมักถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ และมีข้อมูลเกี่ยวกับวาฬชนิดนี้น้อยมาก "วาฬโอมูระ" ยังเป็น 1 ในสัตว์ป่าสงวนของไทยที่ใกล้จะสูญพันธุ์และหายาก สำหรับชื่อของวาฬโอมูระนั้นตั้งตามชื่อนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลชาวญี่ปุ่นนามว่าฮิเดโอะ โอมูระ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบวาฬโอมูระ ในปี พ.ศ. 2546  

วาฬโอมูระ (Omura’s Whale) Balaenoptera omurai Wada, Oishi, and Yamada, 2003 ขนาดโตเต็มที่ยาว 9.0 - 11.5 เมตร หนักน้อยกว่า 20 ตัน ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย รูปร่างค่อนข้างเพรียว ส่วนหัวมีสันนูน 1 สัน มีร่องใต้คางสีอ่อนจำนวน 80-90 ร่อง ยาวพ้นสะดือ กรามด้านซ้ายมีสีดำ ส่วนข้างขวามีสีจางหรือสีขาว สีลำตัวเทาดำ ท้องสีอ่อน หรือชมพู ซี่กรอง จำนวน 180-210 คู่ ขนาดสั้นและกว้าง มีสีขาวเหลืองถึงดำ ครีบหลัง คล้ายวาฬบรูด้า แต่โค้งงอ มากกว่า อยู่ค่อนไปทางหาง

พฤติกรรมพบเพียงลำพังตัวเดียวหรือเป็นคู่ แต่อาจมีพฤติกรรมการรวมกลุ่มจำนวนมากในแหล่งอาหาร อาหาร ปลาที่รวมฝูง กินแบบพุ่งงับฝูงเหยื่อครั้งละมากๆ (Lunge feeder) ถิ่นอาศัยและการแพร่กระจาย : เขตร้อนถึงอบอุ่น พบทั้งเขตนอกฝั่งและชายฝั่ง ส่วนมากพบบริเวณตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย และฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก
ในประเทศไทยพบซากบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนฝั่งอ่าวไทย พบตั้งแต่ จ.ประจวบคิรีขันธ์ลงไปถึง จ.สงขลา ภาพถ่ายในธรรมชาติถ่ายได้จากฝั่งทะเลอันดามัน พบใกล้เกาะราชา จ.ภูเก็ต ฝูงหนึ่งจำนวน 4 ตัว


ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติฯ , อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

ข่าวยอดนิยม