วาเลนไทน์ปีนี้ คาดเงินสะพัด 2,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15% มูลค่าจับจ่ายเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ปี
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ม.หอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยจากผลสำรวจพบว่าเทศกาลวาเลยไทน์ปีนี้ จะมีเงินสะพัดกว่า 2,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2565 กว่า 15% ถือเป็นการจับจ่ายที่กลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่การระบาดของโควิด19 เมื่อปี 2562 ทำให้คาดว่าวาเลนไทน์ปีนี้ บรรยากาศจะกลับมาคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา แต่คนจะเลือกมากขึ้นในการจับจ่ายใช้สอย และต้องใช้เงินมากขึ้นในการซื้อสินค้าเท่าเดิม เพราระสินค้าราคาแพงขึ้น อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าเทศกาลวาเลนไทน์ปีนี้ มูลค่าการใช้จ่ายเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ปี ขณะที่เมื่อเทียบกับเทศกาลอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ เทศกาลปีใหม่ เทศกาลตรุษจีน ที่รายได้กลับมาเป็นบวกในรอบ 3 ปี อาจเป็นเพราะว่ามีช่วงเทศกาลติดกันหลายเทศกาล และวาเลนไทน์อาจเป็นเทศกาลของคนเฉพาะกลุ่ม
"เม็ดเงินสะพัด 2,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.5% ทำให้คาดว่าวาเลนไทน์ปีนี้ บรรยากาศจะกลับมาคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา แต่อาจจะไม่คึกคักเต็มที่ เนื่องจากวันที่ 14 ก.พ.ปีนี้ ตรงกับวันอังคาร ซึ่งเป็นวันธรรมดา ไม่ใช่ช่วงวันหยุด แต่คาดว่าวาเลนไทน์ปีหน้า (2567) จะคึกคักมากกว่านี้ เพราะดูจากโครงสร้างเศรษฐกิจ”
ขณะที่ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยผลสำรวจ “ทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงวันวาเลนไทน์” โดยสำรวจระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2566 จากประชาชน 1,250 ตัวอย่าง โดยจำแนก ตาม Gen พบว่า Gen Z (อายุ 13-23 ปี) ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มากที่สุด 64.7% รองลงมา Gen Y (24-43 ปี) 26.1% Gen X (44-58ปี) 4.6 % โดยกลุ่มตัวอย่างเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าจะฉลองวาเลนไทน์ โดยเลือกฉลองกับคนรักเป็นอันดับ 1 รองลงมา เป็นเพื่อนและครอบครัว ซึ่งปัจจัยที่ใช้เลือกซื้อของขวัญวาเลนไทน์ อันดับ1 คือความชอบของผู้รับ รองลงมา เป็นความสะดวกและประโยชน์
ขณะที่ประชาชน 48.1% มองว่าบรรยากาศวาเลนไทน์ปีนี้จะไม่ต่างจากปีที่แล้ว ส่วน 29.1% มองว่าคึกคักขึ้น และ 22.8% มองว่าคึกคักน้อยลง โดยกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คือทานข้าวนอกบ้าน ซื้อของขวัญ และซื้อดอกไม้ สำหรับค่าใช้จ่ายเฉพาะซื้อของสำหรับมอบให้คู่รัก เฉลี่ย 1,100 บาท/คน ถือเป็นมูลค่าสูงสุดนับจากปี 2563 ขณะที่ค่าใช้จ่ายโดยรวม เฉลี่ย 1,848.82 บาท /คน โดยกลุ่มที่ใช้จ่ายมากที่สุด คือ กลุ่ม Gen X เฉลี่ยใช้จ่าย 2,130 บาท ต่อคน
รองลงมา คือกลุ่ม Gen Z ใช้จ่าย 1,812 บาท และ กลุ่ม Gen Y จำนวน 1,643 บาท โดยประชาชนส่วนใหญ่ 51.6% ซื้อสินค้าเท่าเดิม แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้าและบริการแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้น ขณะที่บางส่วนใช้จ่ายลดลง เนื่องจากรายได้ลดลงไม่พอรายจ่าย