หน้าแรก > สังคม

ข่าวปลอม อย่าแชร์ ❌ การทดสอบ PCR เป็นการสร้างความเสียหายต่อสมอง

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เวลา 05:46 น.


ข่าวปลอม อย่าแชร์ ❌ การทดสอบ PCR เป็นการสร้างความเสียหายต่อสมอง

ตามที่มีข้อความเตือนเกี่ยวกับเรื่องการทดสอบ PCR เป็นการสร้างความเสียหายต่อสมอง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่มีผู้โพสต์ข้อมูลในสื่อออนไลน์ว่า การทดสอบ PCR เป็นการสร้างความเสียหายต่อสมอง ทางสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า เป็นข้อมูลเท็จ เพราะการตรวจหาเชื้อไวรัสในโพรงจมูก (Swab Test) หากทำด้วยความระมัดระวังโอกาสจะเกิดอันตรายต่อผนังโพรงจมูก หรือแม้แต่ที่กล่าวถึงอันตรายต่อส่วนของเส้นประสาทรับกลิ่น (Olfactory Nerve) ซึ่งเชื่อมต่อกับสมองโดยตรง ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก เพราะเส้นประสาทไม่ได้งอกแล้วลอยอยู่บนโพรงจมูก แต่อยู่ภายในส่วนของเนื้อเยื่อที่มีกลไกปกติของร่างกายในการป้องกันอันตราย และภายในสมองก็มีกลไกในการป้องกันการติดเชื้อหรือกลไกในการป้องกันตนเองจากสิ่งอื่นนอกสมองส่วนกลางที่เรียกว่า Blood-Brain Barrier

ดังนั้นการ Swab ที่จะทำให้เกิดการทะลุไปยังสมองหรือส่วนอื่น ๆ ของสมองจึงเกิดขึ้นได้น้อยมาก ๆ ส่วนที่อ้างถึงการบาดเจ็บของ Medula Oblongata ก็ไม่เป็นความจริง สมองส่วนนี้เรียกว่าก้านสมองจะเป็นส่วนสุดท้ายของสมองที่ต่อกับไขสันหลังระดับคอ ทำหน้าที่ร่วมกับสมองส่วนอื่นในการควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกาย และเป็นทางผ่านของเส้นใยประสาทจากสมองลงมาไขสันหลังด้วย ดังนั้นการ Swab หรือแม้แต่การบาดเจ็บรุนแรงต่อโพรงจมูก ก็มีโอกาสน้อยที่จะทำให้เกิดอันตรายหรือการบาดเจ็บต่อก้านสมองส่วนนี้ แต่โรคที่เกิดขึ้นเองของก้านสมองที่ไม่เกี่ยวข้องกับการ Swab หรือไวรัสโควิด

ส่วนที่แชร์เนื้อหาเรื่องอาการแสดงในปี 2020 กับปี 2021 ดังที่เราทราบกันว่า ไวรัสโคโรน่า หรือโควิด 19 มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมหรือการกลายพันธุ์ตลอด ซึ่งทำให้คุณสมบัติในการติดเชื้อและการทำให้เกิดโรคก็จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pni.go.th หรือโทร. 02 3069899

หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ที่มา : Anti-Fake News Center Thailand

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม