หน้าแรก > เศรษฐกิจ

"เอกชน" ขอตอนนี้ยังลดราคาสินค้าทันทีไม่ได้ เหตุยังติดสต็อกวัตถุดิบ หลังค่าไฟและดีเซล ลดลงฮวบ

วันที่ 20 กันยายน 2023 เวลา 11:07 น.


20 กันยายน 2566  นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงราคาสินค้าภายหลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่เห็นชอบปรับลดค่าไฟฟ้างวดกันยายน-ธันวาคม 2566 เพิ่มเติมจากมติครม.นัดแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 จากอัตราเรียกเก็บ 4.10 บาทต่อหน่วย เหลือเป็น 3.99 บาทต่อหน่วย และมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลง 2.50 บาทต่อลิตร ทำให้ดีเซลลง 2 บาทต่อลิตร มีผลวันนี้ (20กันยายน) ว่า  การที่ต้นทุนพลังงานทั้งดีเซล ค่าไฟ ปรับลดลงนั้น ในส่วนของราคาสินค้าด้วยโครงสร้างต้นทุนการผลิตต้องดูจากสต็อกวัตถุดิบด้วย โดยสินค้าประเภทอุปโภคที่เป็นอาหารสดเป็นเรื่องปากท้องชาวบ้านโดยตรง เมื่อต้นทุนเพิ่มสินค้าจะปรับขึ้น เช่น อาหารจากจานละ 50 บาท เป็นจานละ 60-70 บาท อาหารเหล่านี้จะสต็อกสินค้า 1-3 วันจึงสามารถลดราคาลงได้ภายใน 15 วันทันที แต่สินค้าอุตสาหกรรมจะต่างกัน หากใช้วัตถุดิบในประเทศจะมีอัตราการสต็อกวัตถุดิบเฉลี่ย 30-60 วัน แต่หากนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศจะสต็อกวัตถุดิบเฉลี่ย 90-100 วัน ดังนั้นการปรับราคาสินค้าจะเป็นไปรอบตามสต็อกวัตถุดิบที่จะทยอยปรับลดลง

“การลดราคาสินค้าแต่ละอุตสาหกรรมต่างกันไป สินค้าภาคอุตสาหกรรมบางรายการเป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้ว อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ต้องขออนุญาตปรับราคาขายปลีก นอกจากนี้สินค้าบางอย่างเป็นไปตามกลไกการแข่งขันในตลาดหากแข่งขันสูงก็ต้องสู้ด้วยราคาอยู่แล้ว”

สำหรับค่าแรงขั้นต่ำที่ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้ระบุว่าจะมีการพิจารณาปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันนั้น ประธาน ส.อ.ท. เข้าใจว่ารัฐบาลได้ลดค่าพลังงานเพื่อลดรายจ่ายก็ต้องการเพิ่มรายได้อีกส่วนหนึ่ง แต่รายละเอียดยังไม่ได้ชัดเจน เพราะทางนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้หารือทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างที่เป็นไตรภาคี รวมถึง ส.อ.ท. ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ได้ชี้แจงแล้วว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรดำเนินการภายใต้กลไกไตรภาคี ซึ่งก็เห็นตรงกัน และหากขึ้นไม่ควรจะกระชากแรงจนกระทบต่อต้นทุน จนผู้ประกอบการรับไม่ไหว และเข้าใจว่า 400 บาทต่อวัน น่าจะเป็นการปรับขึ้นบางจังหวัด และตามประเภทอาชีพบางอาชีพ

ข่าวยอดนิยม


ข่าวยอดนิยม