วันที่ 19 กันยายน 2023 เวลา 14:32 น.
(19 ก.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้(18 ก.ย.66) ว่า เป็นการเข้าพบเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรุงเทพมหานคร โดยท่านนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย 1.นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะทำงาน 2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานคณะทำงาน 3.รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเป็นรองประธานคณะทำงาน 4.เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นคณะทำงาน 5.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นคณะทำงาน 6.ผู้ว่าราชการเป็นคณะทำงาน และ7. ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นคณะทำงานและเลขานุการ
สำหรับคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากการเข้าพบท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้หารือถึงปัญหาต่างๆ ซึ่งท่านนายกฯ ก็ได้มองว่ากรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีบทบาทสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย มี GDP 33% ของ GDP ประเทศไทย (5.3 ล้านล้าน / 16 ล้านล้าน) รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 30% ของประเทศ (3 แสนล้านบาท / 1 ล้านล้านบาท) ประชากรประมาณ 15% ของประชากรทั้งประเทศ (8-10 ล้านคน / 66 ล้านคน) จำนวนบริษัทที่จดนิติบุคคลคิดเป็น 36% ของทั้งประเทศ (320,000 /890,000 ราย)
ปัญหาสำคัญในการขับเคลื่อน กทม.คือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) การประปานครหลวง(กปน.) องค์การการขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ(กคช.) การกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) กระทรวงคมนาคม(คค.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) กรมควบคุมมลพิษ(คพ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)
ที่ผ่านมา การประสานงานระหว่าง กทม. กับหน่วยงานต่างๆ เป็นไปได้ด้วยดีในระดับหนึ่ง แต่ก็ขาดการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์อย่างบูรณาการ หลายๆครั้งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกันใน
แต่ละเรื่อง ดังนั้นจึงได้มีการตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนปัญหาเร่งด่วนของ กทม. ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงาน และไม่สามารถรอการปรับโครงสร้าง เช่น การแก้ พ.ร.บ.กทม. ในระยะยาวได้ โดยคณะทำงานดังกล่าว จะทำงานคล้ายๆรูปแบบ คณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) ในภาคเอกชน เป็นคณะเล็กๆ มีความคล่องตัว ตัดสินใจและขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและตอบโจทย์พี่น้องประชาชนมากขึ้น โดยคณะทำงานฯ รายงานคืบหน้าผลการดำเนินงานทุกเดือน
สำหรับปัญหาเร่งด่วนของ กทม.ที่ต้องเร่งดำเนินการ
ทั้งนี้ คาดว่าสัปดาห์หน้าหลังจากนายกรัฐมนตรีกลับจากราชการในต่างประเทศ จะมีการนัดหารือคณะทำงานฯ ในรอบแรก