วันที่ 18 มกราคม 2566 เวลา 19:14 น.
(17 ม.ค.66) เวลา 09.00 น. รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดประชุมการขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านสาธารณสุข Sandbox กรุงเทพฝั่งตะวันออกพื้นที่ 13 เขต (หนองจอก บางกะปิ พระโขนง มีนบุรี ลาดกระบัง บึงกุ่ม ประเวศ สวนหลวง คันนายาว สะพานสูง วังทองหลาง คลองสามวา และบางนา) ณ ห้องประชุมแก้วเจ้าจอม ชั้น 3 อาคารบริการ โรงพยาบาลสิรินธร เขตประเวศ
“เราให้ประชาชนเป็นตัวตั้ง ทำอย่างไรให้ประชาชนทุกคนได้รับการดูแล ดังนั้นรูปแบบ Sandbox ต้องเริ่มขึ้น และมีการพิจารณาทุก 3 เดือน ว่าเรามาถูกทางหรือไม่ เพื่อออกแบบให้มีความรอบคอบที่สุดและใช้ข้อมูลให้ถี่ถ้วนที่สุด บริการให้เกิดรอยต่อน้อยที่สุด ใช้บริบทของพื้นที่และฟังคนในพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อพัฒนาปรับปรุงต่อไป” รศ.ดร.ทวิดา กล่าว
กทม.เดินหน้า Sandbox กรุงเทพฝั่งตะวันออก 13 เขต เพื่อแก้ปัญหาระบบบริการด้านสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดภาระประชาชน สู่การยกระดับบริการสาธารณสุขคนเมืองครบวงจร ทุกคนเข้ารับบริการพื้นฐานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ ลดภาระประชาชน ชุมชน และโรงพยาบาลใหญ่ๆสร้างความเชื่อมั่นประชาชน โดย Sandbox กรุงเทพตะวันออกจะดำเนินงานส่งต่อการดูแลผู้ป่วยในระยะเฉียบพลัน ผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลัน การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง รวมไปถึงผู้ป่วยระยะท้าย โดยประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลด้านบริการ การส่งต่อและการดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบในพื้นที่พิเศษเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลนพรัตน์ โรงพยาบาลลาดกระบัง และโรงพยาบาลคลองสามวา เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงง่าย ทั่วถึง และครอบคลุมอย่างเป็นองค์รวม ตั้งแต่การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การดูแลรักษา ฟื้นฟู และดูแลต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ จากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงช่องว่างของการบริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่ระบบริการขาดการประสานงานและการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ จนกลายเป็นภาระของประชาชนที่ไม่สามารถพึ่งพิงหน่วยบริการพื้นฐานได้ส่งผลต่อเนื่องต่อโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในพื้นที่เกิดความแออัด ผู้รับบริการขาดความเชื่อมั่นต่อหน่วยบริการพื้นฐาน ซึ่งหน่วยบริการพื้นฐานหรือสาธารณสุขแบบปฐมภูมิของกรุงเทพมหานครที่กล่าวถึง คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชน เมื่อระบบบริการขาดการเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริงระหว่างหน่วยบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อผู้รับบริการ การเข้าถึงบริการเป็นไปได้ยาก ระบบบริการที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบระบบและกลไกขึ้นมาใหม่
โมเดล Sandbox จึงเกิดขึ้นจากการถอดบทเรียนจากปัญหาเหล่านั้นเพื่อหาทางออกแก้ปัญหา อุดช่องว่างการรักษาพยาบาลที่ไม่เป็นระบบ แนวคิด Sandbox คือการใช้ระบบปฐมภูมิที่เป็นหน่วยบริการพื้นฐานหรือสาธารณสุขแบบปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งคลินิกอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชน และในอนาคตอาจรวมถึงร้านขายยา โดยจะต้องทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการหรือได้รับการรักษาพยาบาลใกล้บ้านได้ ต้องพัฒนาหรือนำเอาระบบและกลไกต่างๆ มาเสริมการบริการและทำให้เป็นมาตรฐานทั้งหมดเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ ลดภาระของโรงพยาบาลใหญ่ๆ และเมื่อจำเป็นหน่วยบริการสามารถที่จะช่วยในการประสานงานในการส่งต่อผู้ป่วยไปสู่โรงพยาบาลได้อย่างเป็นระบบ หากแนวคิดนี้ทำได้สำเร็จจะนำไปสู่ระบบสาธารณสุขที่ดี เกิดการเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบปฐมภูมิเข้มแข็ง ประชาชนไว้ใจได้ พึ่งพาพึ่งพิงได้ ซึ่งได้มีการดำเนินการนำร่องมาแล้วในส่วนของราชพิพัฒน์โมเดล และดุสิตโมเดล
การประชุมขับเคลื่อนฯ Sandbox กรุงเทพฝั่งตะวันออกในวันนี้มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตที่เกี่ยวข้อง พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พลอากาศโท นพ.อนุตตร จิตตินันท์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายจิรัฏฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสปสช. คณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบัง โรงพยาบาลคลองสามวา โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ศูนย์บริการสาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน
26 กรกฎาคม 2568
26 กรกฎาคม 2568
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานและจะรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานระบบของผู้ใช้ การเรียกดูเว็บไซต์ของเราในหน้าต่างๆ กรุณายอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา
อ่านเพิ่มเติมยอมรับ