หน้าแรก > ต่างประเทศ

จีนเรียกร้องนานาชาติจับตาการปล่อย ‘น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี’ ของญี่ปุ่น

วันที่ 5 กรกฎาคม 2023 เวลา 15:15 น.


เจนีวา, 5 ก.ค. (ซินหัว) — เมื่อวันอังคาร (4 ก.ค.) จีนเรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดต่อการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น โดยเตือนว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลระดับโลก สาธารณสุข และปัญหาการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ในวงกว้าง

ระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 53 นักการทูตจีนระบุว่าการปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่มหาสมุทรนั้นเทียบเท่ากับการถ่ายโอนความเสี่ยงของมลพิษนิวเคลียร์ไปสู่มนุษยชาติทั้งหมด

นักการทูตจีนกล่าวกับคณะมนตรีฯ ว่าการกระทำของญี่ปุ่นละเมิดความรับผิดชอบทางศีลธรรมระหว่างประเทศ และข้อผูกมัดทางกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล และอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางทะเลเนื่องจากการทิ้งวัสดุเหลือใช้และวัสดุอย่างอื่น หรืออนุสัญญาลอนดอน

“จีนกระตุ้นเตือนอีกครั้งให้ญี่ปุ่นยุติแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงสู่ทะเล กำจัดน้ำดังกล่าวด้วยวิธีการที่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ ปลอดภัย และโปร่งใส พร้อมให้ความร่วมมือกับทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เพื่อจัดตั้งกลไกการตรวจสอบระหว่างประเทศระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ โดยเร็วที่สุด” นักการทูตจีนระบุ

(แฟ้มภาพซินหัว : โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ จังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น วันที่ 6 มี.ค. 2023)

สื่อชี้ แผนปล่อย ‘น้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์’ ของญี่ปุ่น สร้างความวิตกทั่วแปซิฟิก

ลอนดอน, ซินหัว รายงานว่า เมื่อวันอังคาร (4 ก.ค.) หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน (The Guardian) ของสหราชอาณาจักร รายงานว่าในบรรดาประชาชน 2.3 ล้านคนที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะแปซิฟิก และพึ่งพาอาหารและรายได้จากมหาสมุทรแห่งนี้ ผู้คนจำนวนมากมีความกังวลต่อแผนการของญี่ปุ่นที่จะปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดลงสู่ทะเล ปริมาณกว่า 1 ล้านเมตริกตัน

น้ำเสียดังกล่าวส่วนใหญ่ได้ถูกนำไปใช้หล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์ ภายหลังโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011 จนทำให้เครื่องปฏิกรณ์ จำนวน 3 เครื่องเกิดความเสียหาย ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ครั้งรุนแรงที่สุดของโลก นับตั้งแต่เหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อ 25 ปีก่อนหน้า

องค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (PIF) องค์กรสูงสุดระหว่างรัฐบาลที่เป็นตัวแทนภูมิภาคนี้ หารือกับญี่ปุ่นเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเดือนมกราคมองค์กรฯ ได้ออกมาแสดง “ความกังวลอย่างยิ่ง” ต่อแผนการข้างต้น และเผยแพร่แถลงการณ์ที่ดึงดูดความสนใจต่อกฎหมายระหว่างประเทศประเด็นการทิ้งกากนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อเดือนมิถุนายน

เฮนรี ปูนา เลขาธิการองค์กรฯ กล่าวว่าประชาชนของเราไม่ได้รับสิ่งใดจากแผนการดังกล่าวของญี่ปุ่น ทว่าการดำเนินการครั้งนี้จะสร้างความเสี่ยงแก่คนรุ่นต่อไปอย่างมาก

 

 

ข่าวยอดนิยม