หน้าแรก > สังคม

"อ.ธรณ์" เผยขั้นตอนการค้นหา เรือดำน้ำ "ไททัน" ที่สูญหาย ขณะลงไปสำรวจ "เรือไททานิก"

วันที่ 22 มิถุนายน 2023 เวลา 15:00 น.


วันที่ 22 มิถุนายน 2566 จากกรณีที่ทางการสหรัฐฯ และแคนาดา ได้ระดมกำลังเร่งค้นหาเรือดำน้ำ "Titan" ของบริษัทนำเที่ยวเอกชน โอเชียนเกต (OceanGate Expeditions) ซึ่งมีคนอยู่ในเรือดำน้ำ 5 คน รวมทั้ง นายฮามิช ฮาร์ดิง มหาเศรษฐีนักสำรวจชาวอังกฤษ วัย 58 ปี ได้สูญหายไปอย่างปริศนา ขณะลงไปชมและสำรวจเรือไททานิก ที่จมสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติก

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ล่าสุดได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า การกู้ภัยยาน Titan เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเล จึงขอพาเพื่อนธรณ์ไปตามสถานการณ์แบบต่อเนื่อง การค้นหา 3 บริเวณ มีความคืบหน้าไปบ้าง

บนผิวน้ำ ใช้เครื่องบินเป็นหลัก ตอนนี้บินหาในพื้นที่กว้างมากกว่า 2 หมื่น ตร.กม. ปัญหาสำคัญคือ ต่อให้ยาน Titan ลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ แต่ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่า ประตูเปิดจากข้างในไม่ได้หรือยากมาก อันเป็นหลักการของยานสำรวจใต้ทะเลลึก ปกติต้องให้คนข้างนอกมาเปิดให้ เพราะฉะนั้น คนข้างในยานอาจยังคงต้องใช้ออกซิเจนที่มีจำกัดต่อไป จนกว่าจะมีทีมกู้ภัยมาเจอ การทุบยานให้เป็นรู หรือทุบกระจกเป็นไปไม่ได้ เพราะยานสร้างจากไททาเนียม ป้องกันแรงกดดัน 370 เท่า (ลงไปใต้น้ำ แรงกดดันเพิ่ม 1 บรรยากาศต่อความลึก 10 เมตร) กลางน้ำ เครื่องบินทิ้ง Sonar probe ลงมาตามจุดต่างๆ นอกเหนือไปจากการใช้เรือ เพื่อครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น มีรายงานว่าได้ยินเสียงใต้น้ำ แต่ยังไม่ยืนยันว่าเป็นเสียงอะไรหรือที่ไหน

บนพื้น มีการส่งอุปกรณ์สำรวจทะเลลึกมาจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กองทัพเรือสหรัฐฯ (อุปกรณ์เป็นความลับทางทหาร) ยานสำรวจไร้คน (ROV) จากฝรั่งเศสและอังกฤษ (ส่วนใหญ่เป็นของบริษัทขุดเจาะน้ำมัน/วางท่อ โดยเฉพาะในยุโรปที่หลายแหล่งอยู่ลึก) เรือ Atalante สำรวจทะเลลึกของฝรั่งเศส พร้อมยานสำรวจที่ลงได้ถึง 4,000 เมตร กำลังเดินทางมาที่จุดหมาย น่าจะเป็นความหวังมากที่สุดในขณะนี้ เมื่อเจอ Titan แผนช่วยเหลือจะปรับตามสภาพว่า ควรทำอย่างไร อากาศเหลือพอใช้ถึงวันพฤหัสบดีตอนค่ำ นี่คือการกู้ภัยใต้ทะเลลึกครั้งสำคัญสุด และเป็นการระดมพลังในทุกด้าน ทุกเทคโนโลยีที่โลกคิดค้นมาในการสำรวจทะเลลึก ดินแดนลับแลแห่งสุดท้ายของดาวเคราะห์ดวงนี้ หวังว่าปาฏิหาริย์จะมีจริงครับ

ทั้งนี้ ยังได้อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า สรุปสถานการณ์กู้ภัยยาน Titan ยังคงตามหาต่อไปแบบปฏิบัติการ "ช่วยชีวิต" (Search&Rescue) แม้ออกซิเจนเหลือน้อย แต่ปริมาณออกซิเจนเป็นการคาดการณ์ อาจแตกต่างในสถานการณ์จริงของการหายใจแต่ละคน ยังระบุจุดที่ได้ยินเสียงไม่ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถวิเคราะห์เสียงว่าเป็นอะไรแน่ แต่ยังพยายามส่ง ROV ไปสำรวจ ยังไม่พบอะไร

การค้นหาทางอากาศยังดำเนินต่อไป ครอบคลุมพื้นที่ 3 หมื่น ตร.กม.หรือมากกว่า เครื่องบินปล่อย sonobuoy มีทั้งแบบ active (Sonar) ยิงคลื่นลงไปเพื่อกระทบวัตถุแล้วรับสัญญาณสะท้อน และแบบ passive รับเสียงที่เกิดขึ้นใต้น้ำ (โซนาร์ที่เราเรียก หมายถึงระบบแอกทีฟเท่านั้น)

ใช้ยาน ROV หลายลำ (ไม่มีคนขับ) ยาน Victor6000 ของฝรั่งเศสน่าจะเป็นความหวังมากสุด มีมือจับกลสามารถดึงหรือแกะของที่อาจติดอยู่ หรือนำสายไปเกี่ยวเพื่อช่วยดึงยาน titan ขึ้นมา อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในโครงการ ทำให้เราเห็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทะเลลึก เช่น sonobuoy, sidescan sonar, ROV ฯลฯ

sidescan sonar มีในไทย เคยนำมาลองใช้ทำ mapping พื้นที่ชายฝั่งขนาดเล็ก ROV ในไทยมีนานแล้ว ตอนนี้มีใช้ทั่วไป รู้จักในนาม underwater drone ส่วนใหญ่ใช้สาย ลงลึกได้ 100-150 เมตร (ขนาดเล็ก) ปัญหาสำคัญคือสายแพง และกระแสน้ำอาจทำให้สายตกท้องช้าง

Deep Water Robot ใช้ในกิจการพลังงาน วางท่อ รวมถึงวางสายไฟเบอร์ออปติก/สายไฟใต้น้ำ ฯลฯ เรายังไม่มียานสำรวจทะเลลึกแบบมีคนอยู่ข้างใน และคงยังไม่มีอีกนาน เพราะราคาสูงมากและไม่จำเป็นขนาดนั้น (อ่าวไทยตื้นมาก) ทั้งโลกมียานสำรวจที่ลงไปได้ในระดับ 3,800 เมตร ประมาณ 10 ลำ

 

ข่าวยอดนิยม